Social Media Detox หรือ Digital Detox คือ วิธีการชะล้างจิตใจ ที่ช่วยให้เราลดอาการเสพย์ติดการใช้งานโชเชียลมีเดีย อย่างเช่น Facebook, Instagram, Tiktok , Youtube และอื่นๆ ลง ซึ่งวิธีการนี้มีข้อดี คือ การที่เราได้กลับมาอยู่กับตัวเอง โฟกัสกับความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า และยังช่วยเพิ่มความสุขให้ชีวิตมากขึ้นด้วยนะ อย่างที่รู้กันดีว่าวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันนั้น คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนเมืองมักใช้เวลามากมายของชีวิตหมดไปกับการเล่นโซเชียล ซึ่งการเล่นโซเชียลหนักเกินไปอาจส่งผลกับสุขภาพจิตได้โดยตรงเลยทีเดียว
การเสพติดโซเชียลมีผลกับชีวิตเราอย่างไรบ้าง
ตื่นเช้ามาเราหยิบอะไรเป็นอย่างแรก ไม่ต้องคิดเยอะเลยใช่ไหม คำตอบ คือ โทรศัพท์มือถือแน่นอน พอเสียงตั้งปลุกดังขึ้นสิ่งถัดไปที่เราทำก็คือ การเปิดดู Facebook , Instagram , Line ขออัพเดทโลกโซเชียลนิดหน่อยก่อนลุกไปทำภารกิจอื่นต่อ จากนั้นก็เดินทางไปทำงาน ระหว่างนั่งรถก็ทำแบบเดิม หยิบมือถือมาเล่นเพื่อฆ่าเวลาลองคิดดูสิว่าเราใช้เวลาออนไลน์กันวันละกี่ชั่วโมง ตั้งแต่ตื่นจนนอนหลับ ชีวิตห่างมือถือไม่ได้เลยจริงไหม บางคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่บางคนยิ่งนับวันยิ่งรู้สึกแย่ แต่ไม่เข้าใจตัวเองว่าแย่และนอยเรื่องอะไร ซึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้คนยุคใหม่ไม่มีความสุข เป็นโรควิตกกังวล เครียดและซึมเศร้าก็คือ โซเชียลมีเดียนี่ล่ะ มีคนพูดถึงเรื่องนี้หลายคนเลยทีเดียว
Is social media hurting you mental health ของคุณ Bailey Parnell
ทำไมเราถึงไม่มีความสุข ก็เพราะเจ้าโซเชียลมีเดีย มันมีแต่ภาพ Fabulous life ภาพสวยงามสุดๆ ของชีวิต เช่น ภาพการไปเที่ยวในสถานที่สวยๆ ภาพการใช้ชีวิตเก๋ๆ ภาพครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งภาพเหล่านี้แหละที่เป็นตัวทำร้ายคนที่มี Low self esteem หรือความพึงพอใจในชีวิตต่ำ ยิ่งเห็นภาพคนใกล้ตัวเป็นแบบนั้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่กับชีวิตมากขึ้นเท่านั้น ได้แต่คิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่องแล้วก็เป็นทุกข์หนักเข้าไปอีก ซึ่งขอบอกว่าเธอไม่แปลกนะจ๊ะ มีคนทั้งโลกอีกเป็นล้านที่รู้สึกแบบเดียวกัน คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเลยเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในยุคนี้นั่นแหละคลิปน่าสนใจเพิ่มเคิม
ข้อดีและข้อเสียของโซเชียลมีเดีย
Social ทำให้เราเชื่อมต่อถึงกันตลอดเวลา ได้เห็นชีวิตเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ว่าเค้ามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง มีชีวิตที่แฮปปี้กันแบบไหนบ้าง ถึงจะไม่ได้เจอกันแบบตัวๆ แต่ก็มีความรู้สึกว่าเราเห็นกันตลอด ไม่หายไปไหน ได้เห็นไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ได้อัพเดทโลกว่าไปถึงไหนกันแล้วในทางกลับกันโซเชียลก็มีข้อเสีย คือ มันทำให้เราเสพติด จากที่เราฟังใน Ted Talk ตอน Is social media hurting your mental health เค้าบอกว่าทุกครั้งที่เราโพสต์ภาพ 1 ภาพ แล้วมีเพื่อนมาไลค์ สมองจะหลั่งสารโดพามีนออกมา ซึ่งเป็นสารสร้างความสุข ใช่มันดีมากเลย แต่นอกจากความดีงามแล้ว มันเป็นก็เป็นเหมือนสารเสพติดด้วยนะ เปรียบเหมือนกับการเล่นสล็อตแมชชีนในคาสิโน เพราะมันจะทำให้สมองเราถูกกระตุ้นตลอดเวลา ก็เลยทำให้เรามีความอยากที่จะเปิดดูโซเชียลทั้งวันแบบนั้น มันก็ยิ่งมีผลกับสุขภาพจิตโดยตรง ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล และนำพาไปสู่โรคซึมเศร้าได้
นอกจากนั้นแล้วการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปก็จะทำให้เรามีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถโฟกัส หรือทำอะไรนานๆ ได้ และมีความกระวนกระวาย ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงเรื่องงานในระยะยาวด้วย พอสมองเราถูกรบกวนตลอดเวลา งานก็เสร็จช้า แถมยังไม่สามารถสร้างผลงานชั้นเลิศได้อีก ไม่ใช่เรื่องดีเลยเนอะถ้าเราแยกแยะได้เราจะเข้าใจว่าโซเชียล มันแค่เป็นพื้นที่โชว์ไฮไลท์เก๋ๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องทั้งหมดของชีวิตจริง ลองคิดดูดิว่าเราไม่ค่อยเห็นใครโพสต์เรื่องการทำงานหนักหลังขดหลังแข็ง ความพัง ความเฟล ด้านมืดของตัวเองให้ใครรู้หรอก เราอยากจะแชร์แต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น จริงไหม ที่พีคกว่าคือ เราเอาภาพไฮไลท์พวกนั้นมาเปรียบเทียบกับชีวิตน่าเบื่อๆ ของเรา ก็เลยทำให้คิดไปว่าชีวิตเราแม่งแย่ว่ะ ซึ่งทางที่ดีเราต้องพยายามมองสิ่งที่อยู่ในโซเชียลเป็นแค่สีสัน ไม่ใช่ชีวิตจริงทั้งหมด หรือไม่ก็เลิกใช้โซเชียลไปเลย ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองตัวเองไม่ได้ แล้วเราจะใช้ชีวิตกับโซเชี่ยลมีเดียให้มีความสุขขึ้นได้ยังไงบ้างล่ะ
20 วิธี Social Media Detox
1. เช็คว่าเราใช้โซเชียลหนักแค่ไหน
ก่อนอื่นเลย เรารู้ตัวหรือเปล่าว่าเราเสพย์ติดโซเชียลมากขนาดไหน เล่นทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่เช้ายันนอน เล่นบ้าง หรือไม่เล่นเลย ซึ่งเราสามารถตรวจสอบอาการของเราได้ง่ายๆ จากการไปเช็คที่ Screen Time สำหรับเพื่อนๆ ที่มีไอโฟน คงได้มีตกใจกันบ้างแน่ๆ พอได้เห็นตัวเลขการใช้งานโซเชียลของตัวเอง โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง ต่อวัน เป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร บางคนที่ติดหนักมากอาจสูงถึง 7-8 ชั่วโมงเลยก็มี แล้วเพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ถ้าคิดว่าติดหนักมาก ต้องเลิกบ้าง ก็ไปต่อกันเลยค่ะ
บททดสอบว่าเราเสพติดโซเชียลมีเดียมากแค่ไหน?
2. ปิด Notifications
ปิดการแจ้งเตือน Notification ต่างๆ จากทุกช่องทาง Facebook , Instagram , Youtube , Tiktok และอื่นๆ ที่สำคัญอย่าลืมปิดเสียงเตือนด้วยนะ คนส่วนใหญ่อาจมีอาการ FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out หรือการกลัวตกข่าวนั่นเอง แต่เชื่อเถอะว่า เราอยู่กันได้จริงๆ นะ
3. กด Unfollow
กด Unfollow หรือ Unfriend ที่เราไม่ชอบ หรือไม่ถูกจริตกับเรา ถ้าเราไม่ชอบสไตล์ หรือไม่อยากเห็นหน้าใคร หรือแม้กระทั่งว่าชีวิตเพื่อนคนนั้นดูดีเกินไปจนเราเครียด แนะนำว่าให้กด Unfollow ได้ค่ะ เลือกติดตามเฉพาะคนที่เราอยากเห็นก็พอแล้ว
4. ออกจากกรุ๊ป Leave Group
ออกจากกรุ๊ปที่ไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะอันที่มีแต่เรื่องซุบซิบ นินทาชาวบ้าน อยู่แล้วเครียดให้รีบออกโดยด่วน เราสามารถเลือกได้อีกเช่นกันว่าเราจะจัดการกับโซเชียลของเรายังไง อำนาจอยู่ที่ปลายนิ้วค่ะ
5. เอา Tag ออก หรือลบทิ้ง
กด Untag หรือไม่ก็ลบรูปที่มันน่าอายทิ้งบ้าง ถึงเวลาที่เราควรจัดระเบียบข้อมูลบนโซเชียลแล้ว อันไหนที่เรารู้สึกว่ามันน่าเกลียด ไม่สร้างสรรค์เกินไปก็ลบๆ ไปบ้าง เพื่อนไม่ว่าหรอกนะ
6. บล็อก Social Media ในช่วงทำงาน
ไหนใครเป็นบ้าง พอเปิดโหมดเริ่มทำงาน สิ่งแรกที่ทำคือเปิดเช็ค Facebook ก่อนเลย ตามมาด้วยการเช็ค Instagram ขอแวะหน่อยซิ พอไถไปสักพักเริ่มเพลิน เวลาผ่านไปแล้วครึ่งชั่วโมง ยังไม่ได้เริ่มงานเลยแม้แต่น้อย ใครเป็นแบบนี้ก็ต้องปรับพฤติกรรมนิดนึงนะคะ เราควรกำหนดเวลาไว้ว่าช่วงเวลาไหนที่เราจะตั้งใจทำงาน เราก็ปิดหน้าต่าง Facebook แล้วก็เปิด Airplane บนมือถือไปเลย นั่นจะช่วยให้เรามีโฟกัสกับงานตรงหน้ามากขึ้น งานเสร็จเร็วขึ้นได้แน่นอนค่ะ
7. ใช้แอปพลิเคชั่น ช่วยจำกัดเวลาการเล่นโซเชียล
ถ้าเราใช้ iphone อยู่แล้ว จะมีแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Apps Limits เราสามารถตั้งค่าได้ว่าเราจะใช้เวลากับ Social อย่างเช่น Facebook, Instagram วันละกี่นาที หรือกี่ชั่วโมง พอครบเวลากำหนดแอพจะคอยเตือนว่าหมดเวลาแล้ว พรุ่งนี้ค่อยเริ่มใหม่ ส่วนแอพพลิเคชั่นอื่นนอกเหนือจากนี้เราแนะนำตามนี้เลย สามารถใช้งานได้ทั้งบน IOS และ Android
ลดเวลาการใช้งานโซเชียลลงบ้าง หรือจำกัดเวลาการเล่น เช่น เล่นได้ครั้งละไม่เกิน 15 นาที และเล่นแค่วันละ 2 ครั้ง จากที่เคยเล่นทั้งวัน หรือวันละ 4-5 ชั่วโมง ถ้าใครอยากรู้ว่าใน 1 วันเราใช้งานโซเชียลมากแค่ไหน ลองไปดูที่ Screen Time ได้ สำหรับคนที่มีไอโฟน จะพบตัวเลขที่น่าตกใจมากๆ เลยล่ะ
8. ตรวจสอบความเป็นส่วนตัว
แอปโซเชียลดังๆ หลายตัวส่วนใหญ่จะมีการเก็บข้อมูลเราแบบที่เราไม่รู้ตัว เช่น การแอบฟังว่าเราคุยอะไรบ้าง การตามแทร็คว่าเราเสิร์ชหาอะไรในแต่ละวัน รู้โลเคชั่นว่าเราอยู่ตรงไหน จากนั้นเค้าก็จะเอาข้อมูลเราไปเรียนรู้และนำไปขาย ทำให้บางครั้งเรายังแปลกใจว่าทำไมโซเชียลถึงอ่านใจเราได้ เราแค่คิด แต่เค้าก็สามารถเสนอสินค้าที่เราคิดมาให้เราได้ ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างมาก
อยากให้ดูสารคดี Social Dilemma แล้วจะเห็นภาพชัดขึ้นยิ่งเราใช้ชีวิตบนโลกโซเชียลมากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับว่าเรากำลังแบ่งปันข้อมูลให้กับแอพโซเชียลเหล่านั้นให้เค้าแบบฟรีๆ แล้วเค้าก็เอาข้อมูลของเราไปขายต่ออีกที มันน่ากลัวมากจริงๆ นะ ดังนั้น การที่เราเข้าไปแก้ไขการตั้งค่าบนแอพแต่ละแอปบ้าง เช่น ตั้งค่าปิดไมค์ ไม่ให้ดักฟัง ปิดโลเคชั่น ลบคอนแทคคนไม่รู้จักทิ้ง ก็จะช่วยให้ชีวิตเราปลอดภัยขึ้นด้วยนะ และที่สำคัญอย่าลืมใช้เวลาน้อยลงบนโลกโซเชียลด้วยล่ะ
9. ลบแอปทิ้งไปเลย
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองติดโซเชียลหนักมากแล้วอยากลองวิธีหักดิบ ก็ต้องใช้วิธีนี้เลย เวิร์คสุด ลบแอปออกจากมือถือไปเลย ใช้แค่ใจกล้าๆ เท่านั้น บอกตัวเองว่าลบทิ้งไปสัก 7 วัน เดี๋ยวค่อยโหลดใหม่ก็ได้ แล้วมาดูว่าชีวิตดีขึ้นบ้างหรือไม่ ตัวเราเองเคยใช้วิธีนี้ค่ะ ลบ Facebook ออกจากมือถือไปจริงๆ ลบแค่แอปออกจากเครื่องก็ไม่ได้แปลว่าข้อมูลที่เราเคยมีจะหายไปนะ มันยังอยู่ค่ะ ครบทุกอย่าง เราแค่อยากลองดูว่าถ้าเราไม่มีโซเชียลเราจะอยู่ได้หรือไม่ และจะรู้สึกอย่างไรบ้าง
ผลจากการลองทำก็พบว่าเราใช้ Facebook น้อยลงไปเยอะเลย อาจจะมีเปิดดูบ้างผ่านคอมพิวเตอร์แทน แต่ก็ไม่ได้บ่อยนะ วิธีนี้ช่วยลดอาการอยากรู้อยากเห็น เสพติดโซเชียลลงได้เยอะเลย และแน่นอนว่าอาการว้าวุ่นใจ กระวนกระวาย นอยๆ หาสาเหตุไม่ได้ ก็ดีขึ้นด้วย ไม่เชื่อลองดูค่ะ
10. ไม่ดูมือถือระหว่างกินข้าว
รู้หรือเปล่าว่าในระหว่างที่นั่งทานอาหาร โดยเฉพาะในเวลาที่นั่งร่วมกับผู้อื่น การเล่นมือถือหรือเพียงแค่วางโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะอาหาร ก็ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างหนึ่งนะ มันเหมือนกับว่าเราไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว นอกจากนี้ยังทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโต๊ะลดลงด้วย และอีกอย่างที่สำคัญคือ อาหารอร่อยน้อยลง เพราะเราเอาแต่โฟกัสกับจอมือถือ ไม่ใช่เรื่องดีเลยเนอะ
11. จัดตารางเวลาไม่ใช้โซเชียล
เราควรจัดตารางเวลาไม่ใช้โซเชียลให้กับชีวิตบ้าง เช่น 1 ชั่วโมงเวลากินข้าวกลางวัน หรือช่วงกินข้าวเย็น ทำแบบนี้เป็นประจำสัก 7 วัน แล้วดูว่าตัวเราเองมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จากผลงานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขามีความสุขมากขึ้น ความวิตกกังวล ความเครียดลดน้อยลง แล้วก็ขยายเวลาการไม่ใช้โซเชียลในชีวิตให้นานขึ้นด้วยค่ะ อ่านเพิ่มเติมที่นี่
12. เปลี่ยนหน้าจอเป็นสีขาวดำ
สิ่งที่ทำให้ Social Media เย้ายวนใจเกินต้านทานก็เพราะสีสันสดใสของภาพและวิดีโอนั่นเอง ถ้าภาพที่เห็นเป็นสีเทา หรือขาวดำ ความน่าสนใจจะลดลงไปเยอะค่ะ มือถือรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มมีโหมดปรับสีหน้าจอ เรามาลองใช้ดูบ้างก็ดีนะ
13. ทำห้องนอนให้เป็นห้องปลอดเทคโนโลยี
ก่อนเดินเข้าห้องนอน ลองวางโทรศัพท์ไว้ที่นอกห้องดูบ้าง ไม่ต้องหยิบเข้ามาในห้องนอนเลย เพื่อให้เราใช้เวลาก่อนนอนกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือ ทำโยคะ นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์แทน นอกจากจะทำให้สมองของเราปลอดโปร่ง โล่ง สบายแล้ว การเลิกเล่นมือถือก่อนนอนยังช่วยให้เราหลับลึก และหลับสนิทได้ยาวนานขึ้นด้วยนะ บางคนอาจจะมีข้ออ้างว่าต้องใช้เป็นนาฬิกาปลุก แต่เราขอแนะนำว่า ซื้อนาฬิกาปลุกแยกต่างหากเถอะค่ะ ใน Shopee , Lazada มีนาฬิกาปลุกน่ารักๆ ให้เลือกเยอะมาก แถมยังราคาไม่แพงอีกด้วยนะ
14. อ่านหนังสือแทนการอ่านข่าวจากจอมือถือ
การที่เราอ่านข้อมูลต่างๆ ผ่านหน้าจอตลอดเวลาอาจทำให้เรารู้สึกไม่ฟินเหมือนกับการอ่านข้อมูลจากหนังสือจริงนะ จากงานวิจัยบอกว่าการอ่านหนังสือช่วยลดสิ่งรบกวนและทำให้การอ่านหนังสือมีประสิทธิภาพมากขึ้น
15. จัดระเบียบโลกโซเชียลของเรา
จากงานวิจัยพบว่าการตามติด Facebook และ Instagram เฝ้ามองชีวิตคนอื่น มีข้อดีคือทำให้เรารู้สึกเชื่อมต่อถึงกัน แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลอย่างหนักเกี่ยวกับความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย เมื่อเราเห็นแต่ชีวิตอันเริ่ดหรู สวยงาม เพอร์เฟ็คท์ของเพื่อนๆ ไปจนถึงเหล่าคนดัง ที่ทำให้เราเอามาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองจนทำให้รู้สึกเศร้าได้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรจัดระเบียบโลกโซเชียลของเราให้ดี เราเลือกได้ว่าอยากจะติดตามใคร และลบใครทิ้ง ให้เราเลือกเฉพาะคนที่จะมาเติมเต็มความสุขให้เราก็พอ
16. ไปนัดเจอเพื่อนจริงๆ แทน
ถ้าเรามีปัญหากลัวว่าจะขาดหายจากการอัพเดทข่าวสารเพื่อนๆ หากไม่เล่นโซเชียล เราสามารถใช้อีกวิธีซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมก่อนยุคโซเชียลจะเข้ามานั่นก็คือ การนัดเจอเพื่อไปนั่งกินข้าว เม้าท์มอย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันแบบตรงๆ ต่อหน้า สนุกกว่ากันเยอะค่ะ อยากเจอใคร อัพเดทเรื่องอะไร ไปหาเลย นอกจากจะช่วยลดการใช้เวลาบนโซเชียลแล้ว ยังช่วยสร้างสัมพันธ์ต่อกันและกันให้มีมากขึ้นด้วยนะคะ
17. สร้างบาลานซ์ ใช้โซเชียลอย่างมีสติ
การจะให้เอาโซเชียลออกไปจากชีวิตเลยคงทำได้ยาก เพราะตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรามันแทบจะ blend in จนแยกไม่ออกแล้ว มันคือช่องทางการสื่อสารที่เราเอาออกไม่ได้เลย แต่เราสามารถลดการใช้งานลงได้ อันไหนที่รู้สึกว่ามากเกินก็ลดลงมา ค่อยๆ ปรับใช้การจำกัดเวลาด้วยการตั้งค่า App Limit เพื่อช่วยกำหนดกรอบเวลาการเล่นโซเชี่ยลจากวันละ 3 ชั่วโมง เป็น 30 นาทีพอ หรืออาจจะหากิจกรรม offline อื่นเข้ามาทดแทนไปเลย เช่น ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม เล่นเซิร์ฟสเก็ต หรือดูหนังแทนก็ได้นะวิธีที่เราอยากแนะนำคือ การปลี่ยนกิจกรรม ปกติตอนตื่นจะหยิบโทรศัพท์เป็นอย่างแรก ก็เปลี่ยนเป็นหยิบหนังสือมาอ่าน 20 หน้า ตอนตื่นแทน และปิดท้ายตอนนอนด้วยการหยิบหนังสือมาอ่านเหมือนเดิม เปิดอ่านไปแค่ 3 หน้าเท่านั้นแหละ รู้เรื่อง หลับดี๊ดี ดีกว่าตอนเปิดมือถือ Scroll ดู Feed บนโซเชียลก่อนนอนอีก ได้ทั้งความรู้เพิ่ม และได้ลดความเครียด และความวิตกกังวลลงด้วยนะ
18.ใช้โซเชียลเพื่อการทำงาน
ไหนๆ เราก็หนีความจริงที่ว่าโซเชียล คือ ส่วนหนึ่งของชีวิตไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ราควรใช้มันให้เกิดประโยชน์กับชีวิตจริงๆ จะดีกว่า เราอยากแนะนำให้สร้างฐานลูกค้าจากการเล่นโซเชียลขึ้นมาแทน เราต้องสร้างคาแรคเตอร์ตัวเราขึ้นมาก่อนว่ามีความสามารถ มีความรู้ใน Niche เรื่องไหน แล้วก็ทำคอนเท้นเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่นะเราอาจจะได้เปลี่ยนอาชีพใหม่ที่ถูกใจตัวเองเร็วกว่าที่คิดก็ได้
19. เปลี่ยนโฟกัส หากิจกรรมออฟไลน์ทำ
ทุกวันนี้มีกิจกรรมมากมายรอคอยให้เราทำเยอะมากๆ ตัวอย่างเช่น จัดสวนในบ้าน หัดชงกาแฟดริป ทำอาหารคลีนทานเอง หรือจะเล่นสเก็ตบอร์ดก็ได้ ซึ่งการได้ทำกิจกรรมที่ออกห่างจากหน้าจอบ้างจะช่วยให้เรามีสมาธิกับความจริงที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น Social Media จะว่าไปมันก็คือ โลกมายา หรือโลกเสมือนอย่างหนึ่ง เป็นภาพในอุดมคติที่ทุกคนอยากได้ แต่ในความเป็นจริง เราก็รู้กันอยู่แล้วเนอะว่ามันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้สัมผัสกับความจริงมากขึ้น ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าความสุขของเรานั้นอยู่ที่ไหนกันแน่
20. อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วยล่ะ
เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่เราเห็นคุณค่าของสุขภาพของตัวเองเป็นสำคัญ การใช้งานส่วนไหนที่มากเกินไปย่อมทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ เล่นโซเชียล เล่นมือถือเยอะก็ทำให้เรามีอาการเจ็บป่วยทางสายตา เช่น สายตาสั้น ตาแห้ง เห็นภาพเบลอ รวมไปถึงอาการปวดหัว และนิ้วล็อคด้วย เพราะฉะนั้นเราควรพักจากหน้าจอทุกๆ 20 นาที ลุกไปทำกิจกรรมอื่นบ้าง หรือไม่ก็บริหารสายตาด้วยการมองไปในที่ไกลๆ หมุนคอ ขยับร่างกายบ้าง จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้สายตาและร่างกายของเราได้เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากสุขภาพร่างกายที่เราสัมผัสได้แล้ว ยังมีเรื่องของสุขภาพจิตที่เราอาจจะมีอาการ แต่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ยิ่งเราใช้เวลากับหน้าจอมากเท่าไหร่ อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า เบื่อชีวิต หมดหวัง ยิ่งมาเยือนมากเท่านั้น กว่าจะรู้ตัวก็มีอาการหนักแล้ว การรักษาก็ยิ่งยากขึ้นถ้ารู้ตัวช้า เราเลยอยากให้ทุกคนคิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจของเราให้มากๆ ด้วยนะคะ
แหล่งอ้างอิง
สรุป
นี่ก็เป็นวิธี Social Detox หรือการลดการใช้โซเชียลแบบง่ายๆ เพื่อจะได้บรรเทาอาการเสพย์ติดและรู้สึกแย่กับชีวิต จากการที่เราได้ลองลดการใช้โซเชียลลง ลดจากวันละ 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ผลปรากฏว่าเรารู้สึกดีกับชีวิตมากขึ้น ไม่วิตกกังวล หรือคิดมากกับเรื่องที่ไม่เป็นสาระ และที่สำคัญคือ มีเวลาเพิ่มขึ้นจนสามารถไปโฟกัสเรื่องที่สร้างประโยชน์ให้ชีวิตจริงๆ แทน (เอาเวลาไปเขียนบล็อกเพิ่ม) เลิกคิดเรื่องคนอื่น เลิกอาการอยากรู้อยากเห็น เพราะรู้ไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น โดยรวมคือ ชีวิตดี อาการวิตกกังวลลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีความปล่อยวางมากขึ้น อยากให้เพื่อนๆ ลองทำกันดูบ้างค่ะ
การลดการใช้โซเชียลสามารถเริ่มทำได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ เลย เชื่อเถอะว่าเมื่อไหร่ที่เราใช้โซเชียลน้อยลง ชีวิตเราจะมีความสุขขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก่อนอื่นเราต้องเริ่มจากการรู้ตัวเองว่าเราเสพติดหนักแค่ไหน แล้วก็ต้องตั้งใจที่จะลดการใช้โซเชียลแบบจริงจังด้วย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะแก้ไขและปรับปรุงให้มันดีขึ้นได้ เพื่อความสุขของตัวเราเองนะคะ
Summer Teas เราจะสุขภาพดี กินอิ่ม นอนหลับ แข็งแรงไปด้วยกัน