สรุปหนังสือ Smartphone Brain (Skärmhjärnan) เขียนโดยคุณ อันเดอร์ซ ฮานเซน จิตแพทย์ชาวสวีเดน แปลโดยคุณ อาคิรา รัตนาภิรัต
หนังสือที่จะมาบอกเล่าว่าสมาร์ทโฟนทำอะไรกับสมองของเราบ้าง ในปัจจุบันคนสมัยใหม่ยุคดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ากันเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เรามีสภาพแวดล้อมที่ดี ปัจจัย 4 พร้อมทุกด้าน แต่ทางด้านสุขภาพจิตกลับแย่ลง สาเหตุหลักนั้นก็มาจากสมาร์ทโฟนนั่นเอง แล้วสมาร์ทโฟนมีผลกระทบกับสมองและสุขภาพจิตของเราได้อย่างไร มาหาคำตอบกัน
Summerteas ดูแลสุขภาพคนวัยทำงาน ให้แข็งแรง
หนังสือ Smartphone Brain บทนำ
ปัจจุบันคนใช้เวลาบนสมาร์ทโฟนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง มีคนเป็นซึมเศร้ามากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรามีพร้อมทุกอย่างแต่กลับรู้สึกโดดเดี่ยว เหตุผลก็เพราะว่าสมองของเรายังเป็นรุ่นที่ใช้กับวิถีชีวิตแบบเดิมที่อยู่กับธรรมชาติ หาของป่า ล่าสัตว์ แต่สภาพแวดล้อมปัจจุบันกลับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลแบบสิ้นเชิง ความไม่สอดคล้องกันระหว่างสังคมปัจจุบันกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ คือ สาเหตุของปัญหาที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลกันมากขึ้น
บทที่ 1 มนุษย์สร้างประวัติศาสตร์มาได้โดยไม่ต้องมีสมาร์ทโฟน
พระเอกของหนังสือเล่มนี้คือ สิ่งที่มีโครงสร้างขั้นสูงสุดในจักรวาลเท่าที่เราเคยรู้จักมานั่นคือ สมอง อวัยวะที่แสดงถึงตัวตนของเรา สมองใช้เวลาโดยไม่มีที่สิ้นสุดราวกับมหาสมุทรเพื่อตอบสนองต่อโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่
สาเหตุที่มนุษย์ตอบสนองต่อยุคปัจจุบันได้ไม่ดี : สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ล้วนตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในตอนนี้โดยมี “วิวัฒนาการ” เป็นเงื่อนไขขั้นพื้นฐาน
โดพามีน (Dopamine) เป็นสารเคมีในสมองที่จะหลั่งออกมาทำให้เราอยากทำสิ่งต่างๆ เช่น การกิน โดพามีนทำให้รู้สึกพึงพอใจและอยากทำเช่นนั้นอีก ซึ่งวิวัฒนาการนี้ทำให้บรรพบุรุษของเรามีชีวิตรอดในยามขาดแคลนอาหารและยังสามารถถ่ายทอดยีนต่อไปให้ลูก แต่ในยุคปัจจุบันวิวัฒนาการนี้กลับทำให้คนเป็นโรคอ้วนและเบาหวานประเภทที่ 2 กันมากขึ้น
ไม่เพียงร่างกายที่ตอบสนองกับสังคมปัจจุบันได้ไม่ดี จิตใจของเราก็เช่นกัน ระบบของสมองยังคงทำงานเหมือนเมื่อหลายพันปีก่อน คนรู้สึกกังวลถึงอันตรายอยู่ตลอดเวลา จึงวางแผนเพื่อเลี่ยงภยันตรายเหล่านั้น ซึ่งทำให้จิตใจป่วยและกลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคกลัว
บทที่ 2 ความเครียด ความกลัว อารมณ์ซึมเศร้า มีบทบาทของมัน
ร่างกายเรามีสิ่งที่เรียกว่าระบบ HPA (ไฮโปทาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต) นี่คือผลผลิตจากวิวัฒนาการเป็นเวลาหลายล้านปี ระบบ HPA ทำให้หลั่ง “คอร์ติซอล” (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากที่สุด
ระบบ HPA มีวิวัฒนาการสำหรับกรณีเจอเหตุร้ายรุนแรงกะทันหันทั้งในมนุษย์และสัตว์ เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบทันควันเป็นการตอบสนองแบบ “สู้หรือหนี” Fight or Flight mode
ความเครียดส่งผลต่อทักษะการคิด : ความเครียดในระดับพอเหมาะอาจช่วยขัดเกลาจิตใจ แต่ถ้ามีมากเกินสมองจะทำงานได้ไม่เต็มที่ การสะสมความเครียดรุนแรงอย่างต่อเนื่องจึงทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ และทำให้ศูนย์กลางความจำที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส ทำงานไม่ได้
ความกังวล-กลัวว่าอาจจะเกิดขึ้น : ความกังวลคือ กลไกเพื่อการอยู่รอดอย่างหนึ่ง ความกังวลจะทำให้ระบบความเครียดทำงาน ในช่วงที่เรามีความกังวล ระบบ HPA จะทำงาน กลไก “สู้หรือหนี” ทำงานทั้งในเวลากังวลและเวลาเครียด แต่ต้นเหตุต่างกัน “ความเครียด” คือ ปฏิกิริยาตอบโต้ต่อภัยคุกคาม แต่ “ความกังวล” เป็นปฏิกิริยาต่อสิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคาม
ผลพวงจากความเครียดอันยาวนาน ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า : โรคซึมเศร้า-ป้องกันโรคติดต่อจริงหรือ โรคซึมเศร้า คือ กลยุทธ์ของสมองที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องเราจากโลกที่อันตราย หนึ่งในนั้นคือ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของพวกเราเอง การจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้นส่วนหนึ่งมาจากยีนในตัวคุณ ยีนที่ทำให้เสี่ยงต่อการซึมเศร้ามีหน้าที่ 2 ประการ ประการแรกคือ ช่วยให้กลไกภูมิคุ้มกันทำงาน ประการที่สองคือ การสร้างระยะห่างจากอันตราย การบาดเจ็บ และโรคติดต่อ
บทที่ 3 สมาร์ทโฟน คือ ยาเสพติดชนิดใหม่ล่าสุด
สิ่งแรกที่ทำหลังตื่นนอนคือหยิบสมาร์ตโฟน สิ่งสุดท้ายในแต่ละวันคือวางโทรศัพท์ที่หัวเตียง ใน 1 วัน พวกเราจับสมาร์ตโฟนมากกว่า 2,600 ครั้ง หรือเฉลี่ย 1 ครั้งในทุก 10 นาที เรากำลังพึ่งพาสมาร์ตโฟนมากเกินไป อ่านเพิ่มเติมได้ที่ บททดสอบว่าเราติดโซเชียลมีเดียมากแค่ไหน
หน้าที่ของโดพามีน : โดพามีนมักถูกเรียกว่า “สารแห่งรางวัล” หน้าที่สำคัญของโดพามีนคือ การทำให้เราเลือกว่าจะจดจ่อกับสิ่งใด พูดอีกอย่างว่าเป็นแรงขับเคลื่อนของมนุษย์ อย่างเช่น โดพามีนจะเพิ่มขึ้นตอนที่มองเห็นอาหาร การคบหาผู้อื่น การมีเพศสัมพนธ์ และสมาร์ตโฟนก็เช่นกัน โดพามีนมีบทบาทสำคัญในการทำให้มนุษย์อยู่รอดและสืบเชื้อสาย
สมองสนใจสิ่งใหม่เสมอ : ในแง่วิวัฒนาการ การที่มนุษย์สนใจสิ่งใหม่อยู่เสมอช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอด
สมองชอบคำว่า “อาจจะ” มาก : สิ่งที่ทำให้ระบบการให้รางวัลขยันทำงานคือ “ความคาดหวัง” ต่อสิ่งนั้น โดพามีนเป็นตัวสื่อสารกับเราว่าควรจดจ่อกับอะไร สมองหลั่งโดพามีนมากกว่าในเวลาที่ผลลัพธ์ไม่แน่นอน เป็นเพราะหน้าที่สำคัญที่สุดของโดพามีนคือ การถ่ายทอดแรงจูงใจในการทำพฤติกรรมให้กับมนุษย์
คำว่า “ไม่แน่” ทำให้เราเรียกร้องหาสมาร์ตโฟน : มนุษย์ชื่นชอบผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน การคอยมองหาสิ่งใหม่แล้วได้รับรางวัลเป็นผลตอบแทน บริษัทสมาร์ทโฟนนำหลักการนี้ไปใช้ ปริมาณโดพามีนจะเพิ่มขึ้นตอนได้ยินเสียงแจ้งเตือน ความรู้สึกต้องการเรื่องที่ “อาจจะสำคัญก็ได้” ทำให้เราหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาใช้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เกิดอาการเสพติดสมาร์ทโฟนขึ้นมา การเสพติด คือ รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังทำ
โซเชียลมีเดียผู้กระตุ้นศูนย์กลางรางวัล : โซเชียลมีเดียทำให้เราหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาใช้โดยใช้หลักแรงจูงใจระบบการให้รางวัลและยังมีเรื่องของการช่วยเติมเต็มความต้องการเป็นที่ยอมรับทางดิจิทัลด้วย โดยมากธุรกิจเหล่านี้จะจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์หรือประสาทวิทยา เพื่อการสร้างแอพพลิเคชันที่กระตุ้นระบบการให้รางวัลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจนเกิดการเสพติดมากที่สุด กล่าวได้ว่าพวกเขาแฮ็กเข้าไปในสมองของพวกเราได้สำเร็จ
บุคคลชั้นนำในธุรกิจด้านไอทีไม่ให้ลูกใช้สมาร์ทโฟน : สตีฟ จอบส์เข้มงวดกับการให้ลูกใช้ไอแพด เขายังบอกอีกว่าผมไม่วาง iPad ไว้ใกล้ตัวเลยและเขาจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างเข้มงวด บิล เกตส์ ไม่อนุญาตให้ลูกมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองจนกระทั่งอายุ 14 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าบุคคลชั้นนำเหล่านี้เห็นถึงผลกระทบของสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นอย่างดี
บทที่ 4 สมาธิคือ สิ่งล้ำค่าในยุคปัจจุบัน
“มนุษย์ไม่ถนัดการทำงานหลายอย่างพร้อมกันคนที่บอกว่าตัวเองถนัดเค้าแค่กำลังหลอกตัวเอง”
ชีวิตยุคดิจิทัลในปัจจุบันทำให้เราพยายามทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวหรือที่เรียกว่า มัลติทาส์กกิ้ง (multitasking) คนที่ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกันมักรวบรวมสมาธิไม่ค่อยได้พูดอีกอย่างว่าพวกเขาฟุ้งซ่านไปกับทุกเรื่อง
ผลพวงจากการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน : สมองมีทักษะอันยอดเยี่ยมในการจัดการกับกระบวนการจำนวนมหาศาลพร้อมกันได้อย่างเหลือเชื่อ แต่พื้นที่ที่จำเป็นต่อทักษะในการจัดการสติปัญญาเหล่านั้นกลับจำกัดไว้เพียงที่เดียวนั่นคือ สมาธิ คนเรามีสมาธิจดจ่ออยู่ได้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น
ยิ่งทำงานไม่ดีสมองยิ่งชมตัวเอง : การมีสมาธิกับงานหลายอย่างสลับกันไปมาทำให้เรารู้สึกดีนั่นก็เพราะ “ความตื่นตัว” ที่ช่วยให้รับมือกับแรงกระตุ้นต่างๆ ในโลกได้อย่างว่องไว ซึ่งช่วยให้เอาตัวรอดได้
ความจำใช้งานมีขนาดจำกัด : การทำงานหลายอย่างพร้อมกันไม่เพียงทำให้สมาธิแย่ลงแต่ยังส่งผลเสียต่อ “ความจำใช้งาน” (working memory) อีกด้วย ความจำใช้งานเปรียบเสมือน “โต๊ะทำงานของสมอง” เพื่อวางสิ่งที่อยู่ในหัวตอนนี้เอาไว้ ซึ่งสิ่งนี้มีขนาดจำกัดที่เล็กมากเช่นเดียวกับสมาธิ
การสร้างความจำระยะยาวจำเป็นต้องใช้สมาธิ : การสร้างความจำระยะยาวสมองต้องทำการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ใหม่และการจะรักษาความจำให้คงอยู่ยาวนานก็จำเป็นต้องสังเคราะห์โปรตีนขึ้นใหม่ด้วย หลักการนี้มีศัพท์เฉพาะทางว่า การสร้างเสถียรภาพความจำ (memory consolidation) เป็นงานที่สมองต้องใช้พลังงานมากที่สุด เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นขณะเรานอนหลับ
สมองชอบทางลัด : สมองคือ อวัยวะในร่างกายที่ต้องใช้พลังงานมากที่สุด สมองพยายามหาทางลัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความจำซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้พลังงานสูง ในยุคปัจจุบันสมองเลยไม่เน้นจำเพราะมีอุปกรณ์ที่มาช่วยทำหน้าที่เหล่านั้นแทนอยู่แล้ว
กูเกิลเอฟเฟกต์ – ข้อมูลไม่ถูกบันทึกเป็นความจำ : กูเกิลเอฟเฟกต์ (Google effect) หรือ ความจำเสื่อมดิจิทัล (digital amnesia) หมายถึง ภาวะที่สมองไม่พยายามจดจำด้วยตัวเองเพราะคิดว่าข้อมูลถูกเก็บไว้ที่อื่น สมองจะจำแค่สถานที่เก็บข้อมูลเหล่านั้นอย่างเช่น กูเกิล หรือวิกิพีเดียในสมาร์ทโฟนแทน
สมาร์ทโฟนคอยรบกวนสมาธิและทำให้เราไม่สนใจกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งสมาร์ทโฟนจะฉีดโดพามีนครั้งละเล็กน้อยให้เราวันละกว่า 300 ครั้ง มันคอยเรียกร้องบอกคุณทุกครั้งว่า ”หันมามีสมาธิอยู่กับฉันสิ “
บทที่ 5 หน้าจอส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการนอนหลับ
เมื่อเราทำสมาร์ทโฟนหายเราจะกังวล เครียดและมีอาการตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด สมองจะเข้าสู่ โหมดการตอบสนองแบบ “สู้หรือหนี” ซึ่งอาการแบบนี้จะเป็นมากในกลุ่มคนที่ใช้สมาร์ทโฟนบ่อย เพราะสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่สมองจดจำว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอด (คอยหลั่งโดพามีนออกมาหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ)
จากผลวิจัยพบว่าคนที่ยิ่งใช้สมาร์ทโฟนมากยิ่งมีปัญหาเรื่องความเครียดสูงและคนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าก็มีเยอะเช่นกัน ผลกระทบมีทั้งในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่คนที่อยู่ในสภาวะเครียดง่ายนั้นเปรียบเสมือนน้ำเต็มแก้วแค่หยดน้ำเล็กๆ เพียงหยดเดียวก็ทำให้ล้นแก้วได้
โรควิตกกังวล (anxiety disorder) ก็เช่นเดียวกัน ราว 9 ใน 10 จากงานสำรวจชี้ให้เห็นว่า ความกังวล มีความเชื่อมโยงกับการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป ซึ่งทั้งโรควิตกกังวลและความเครียดต่างเกิดขึ้นมาจากการทำงานของระบบ HPA
การนอนหลับถูกมองข้ามมากเกินไป : การใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปทำให้เกิดความเครียดและความกังวลแต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “การนอนหลับ” คนยุคปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มเช่นเดียวกันคือ มีเวลาเฉลี่ยในการนอนหลับลดลงถึง 1 ชั่วโมงภายใน 100 ปีที่ผ่านมา
สมาร์ทโฟนทำให้เป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือ : การสั่งสมความเครียดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งชีวิตยุคดิจิทัลในปัจจุบันและสมาร์ทโฟนก่อให้เกิดความเครียด เพราะคนส่วนใหญ่พกสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นตัวเรียกความเครียดไว้ในกระเป๋าด้วย
ผลกระทบใหญ่ที่สุดจากสมาร์ทโฟนอาจเป็นการ “ขโมยเวลา” เสียมากกว่า กล่าวคือ ทำให้เรามีเวลาในการทำกิจกรรมที่ช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าเช่น การออกกำลังกาย การพบปะผู้คน หรือการนอนหลับพักผ่อนลดน้อยลง
ทำไมเราต้องนอน : การจัดการของร่างกายและสมองซึ่งเกิดขึ้นขณะหลับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง “การทำความสะอาดสมอง” ที่เกิดขึ้นทุกคืนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของสมอง การอดนอนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม
ความเครียดและหน้าจอคือตัวขัดขวางการนอนหลับ : เมื่อเริ่มเข้านอนมนุษย์จะค่อยๆ ปิดสวิตช์การรับรู้สิ่งรอบตัวทีละนิด การได้รับความเครียดก่อนเข้านอนจึงทำให้นอนไม่หลับ เพราะเมื่อเกิดความเครียด จะทำให้เราตื่นตัวนั่นเอง
ความมืดมิดของแสงสีฟ้า : นาฬิกาชีวภาพในร่างกายมนุษย์ถูกควบคุมโดยปริมาณแสงสว่างที่เราได้รับนี่คือการทำงานของ เมลาโทนิน (melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่คอยแจ้งเวลานอนให้กับร่างกาย ปริมาณของฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะมีน้อยในช่วงกลางวัน เพิ่มขึ้นในช่วงเย็น แล้วผลิตออกมามากที่สุดในตอนกลางคืน การได้รับแสงสว่างมากเกินไปจะยับยั้งการหลังเมลาโทนิน
แสงสีฟ้า (blue light) มีคุณสมบัติยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินได้ดีมากเช่นกัน ซึ่งแสงสีฟ้านี้ถูกใช้ในอุปกรณ์ดิจิทัล ถ้าเราใช้อุปกรณ์เหล่านี้ก่อนนอนจะทำให้การหลั่งเมลาโทนินหลั่งช้าไป 2- 3 ชั่วโมงด้วย นอกจากจะทำให้นอนไม่หลับแล้วยังทำให้คุณภาพการนอนแย่ลงด้วยและร่างกายก็จะรู้สึกเหนื่อยในวันรุ่งขึ้น
บทที่ 6 โซเชียลมีเดีย – “อินฟลูเอนเซอร์” ที่แข็งแกร่งที่สุดในยุคปัจจุบัน
มนุษย์ชอบเรื่องซุบซิบนินทามากเพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่รอดมาได้
สมองของมนุษย์ชอบข่าวลือแย่ๆ : กลไกของสมองมีวิวัฒนาการที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจเมื่อได้รู้หรือแพร่กระจายข้อมูลเกี่ยวกับคนอื่น สิ่งที่ช่วยให้มนุษย์รอดมาได้คือ อาหารและเรื่องซุบซิบนี่เอง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มนุษย์ชอบข่าวหรือแย่ๆ มากกว่าข่าวลือดีๆ เพราะข่าวลือแย่ๆ ช่วยให้เกิดสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น รู้สึกเป็นพวกพ้องเดียวกัน ความขัดแย้งคือ เรื่องที่เราสนใจเป็นพิเศษเพราะทำให้เราอยู่รอด ส่วนข่าวลือดีๆ นั้นช่วยให้เราได้พิจารณาตนเองหรือสร้างแรงบันดาลใจต่อการพัฒนาตนเอง
มนุษย์ชอบการเข้าสังคม : มนุษย์ชอบเข้าสังคมโดยสัญชาตญาณซึ่งต่างจากสัตว์อื่น สิ่งนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือกันและใช้ชีวิตอยู่รอดมาได้ คนที่เข้าสังคมเก่งมักมีอายุยืนและสุขภาพแข็งแรง ในทางกลับกัน คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมักเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอายุสั้น ปัจจุบันความต้องการอย่างแรงกล้าในการเข้าสังคมได้ย้ายไปอยู่ในสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ไปแล้ว ซึ่งความต้องการนี้กลายเป็นพื้นฐานที่สร้างความสำเร็จทางธุรกิจครั้งใหญ่นั่นคือ เฟซบุ๊ค
ตลอดชีวิตของมนุษย์เราสามารถรู้จักผู้คนได้ซักกี่คน : โรบิน ดันบาร์ นักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาวิวัฒนาการชาวอังกฤษ เชื่อว่ามนุษย์สร้างสัมพันธ์กับผู้คนได้ราว 150 คน เป็นความสัมพันธ์แบบที่ใกล้ชิดพอที่จะรู้ว่าเค้าคิดกับคนอื่นอย่างไรบ้าง
เฟซบุ๊ค ช่วงชิงเวลาในชีวิตของเราไปหลายปี : 1 ใน 3 ของมนุษย์บนโลกนี้ใช้ เฟซบุ๊ค คนทุกวัยจากแทบทุกประเทศในทุกทวีปต่างใช้ เฟซบุ๊ค เราใช้เวลามากกว่าวันละ 30 นาทีโดยเฉลี่ย เพื่อดูรูปอ่านแล้วแชร์ข้อมูลใหม่
มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ประสบความสำเร็จในการเอาความต้องการของมนุษย์ที่ “อยากรู้เรื่องของคนที่อยู่รอบตัว” มาแปลงเป็นเครือข่ายในขณะเดียวกันก็ได้หยิบเรื่องการ “อยากเล่าเรื่องของตัวเอง” เอามาใช้ด้วย
ยิ่งใช้โซเชียลมีเดียก็ยิ่งโดดเดียว : ยิ่งพบผู้คน “ในชีวิตจริง” มากเท่าไหร่ก็ยิ่งรู้สึกมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกันยิ่งใช้เวลากับ เฟซบุ๊ค มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความสุขน้อยลง จึงทำให้ได้ข้อสรุปว่า โซเชียลมีเดียทำให้เราคิดไปว่า “ฉันเป็นคนมีสังคมและกำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความหมาย” แต่ในความเป็นจริงแล้วโซเชียลมีเดียไม่อาจทดแทนการเข้าสังคมในชีวิตจริงได้
ทำไมโซเชียลมีเดียจึงทำให้เราโดดเดี่ยวและหดหู่ เหตุผลก็เพราะว่าการได้รับข้อมูลมากมายว่าคนอื่นมีความสุขมากแค่ไหน ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้และโดดเดี่ยวและสาเหตุหลักมาจากตำแหน่งทางลำดับชั้นของบุคคลนั้นนั้น
ความอิจฉาบนโลกดิจิทัล : มนุษย์ต่างจำเป็นต้องมีที่ยืนของตัวเองภายใต้ลำดับขั้นอย่างชัดเจน เซโรโทนินคือ สะพานทางชีววิทยาที่เชื่อมโยงระหว่างตำแหน่งตามลำดับขั้นและความสุข เมื่อถูกลดลำดับขั้นเราจะรู้สึกเหมือนโดนทำร้ายทางจิตใจ เมื่อมนุษย์ถูกลดตำแหน่งมนุษย์จะรู้สึกกังวลทำให้เสียสุขภาพจิต ซึ่งในปัจจุบันสังคมเต็มไปด้วยการแข่งขันและไม่ว่าจะในด้านไหน คนชนะมักเป็นใครสักคนที่ไม่ใช่เรา การได้เห็นชีวิตคนอื่นในโลกดิจิทัลที่ถูกปรับแต่งมาอย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งนี้ทำให้พวกเขาตั้งมาตรฐานในจุดที่เอื้อมไม่ถึงว่า “ชีวิตที่ดีต้องเป็นแบบนี้” ส่งผลให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มชั้นล่างสุด
เฟซบุ๊ค ทำให้ระดับความพึงพอใจในชีวิตลดลง : นักวิจัยพบว่าคนยิ่งใช้เฟซบุ๊คมากก็ยิ่งไม่พอใจกับชีวิต การถูกโจมตีด้วยภาพการท่องเที่ยวในสถานที่แปลกๆ หรืออาหารหรูหราทำให้ระดับความพึงพอใจในชีวิตลดลงได้ในเวลาอันสั้น
ใครเป็นคนควบคุมความสนใจของคุณ : การที่เราสนใจอะไรซักอย่างคือ ขั้นตอนแรกของการสร้างความทรงจำระยะยาวนี่คือ พื้นฐานสำคัญในการจะทำให้ผู้คนเข้าใจข้อความเพื่อการโฆษณา เพราะหากมีของที่อยากได้เราจะต้องทำสิ่งนั้นให้ได้ นอกจากนี้ข้อมูลทางสังคมยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดจึงถูกบันทึกในความทรงจำและข้อมูลเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการตลาดดิจิทัล
สมาร์ทโฟนมีความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสื่อข้อความเพื่อการโฆษณามายังสมองของเรานอกจากจะดึงดูดความสนใจของเราแล้วยังแอบส่งข้อความถึงเราอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดด้วย
เฟซบุ๊ค สแนปแชท ทวิตเตอร์ สร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้ “ความสนใจของคุณ” กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของพวกเขา บริษัทเหล่านี้ใช้ข้อความรูปภาพและความต้องการเป็นที่ยอมรับทางดิจิทัลเพื่อดึงดูดความสนใจของคุณแล้วนำไปขายให้กับสปอนเซอร์โฆษณา
เราคือผู้ตัดสินว่าต้องการสินค้าแบบไหน : หาก “ความสนใจ” ของพวกเรามีมูลค่าขนาดนี้ในอนาคตอาจจะมีสมาร์ทโฟนหรือโซเชียลมีเดียที่ดึงดูดความสนใจของเราได้มากกว่าเกิดขึ้นก็เป็นได้ แต่ถ้าเรายังอยากใช้เทคโนโลยีแบบไม่เสียสมดุล เราก็ควรทำอะไรสักอย่าง เช่น เลิกซื้อ iPhone เลิกเล่น เฟซบุ๊ค เพราะไม่อยากให้เกิดผลเสียกับสุขภาพกายและใจ แล้วบริษัทเหล่านั้นก็ต้องพยายามสร้างผลิตภัณฑ์อื่นขึ้นมาแทน
เทคโนโลยีควรตอบสนองต่อมนุษย์ไม่ใช่ให้มนุษย์ไล่ตามเทคโนโลยี หากพวกเราแสดงออกให้มากกว่านี้ว่าต้องการผลิตภัณฑ์ที่ต่างออกไปเราย่อมได้มันมา
ได้เวลาล้างพิษดิจิตอล : อ่านเพิ่มเติมที่ 20 วิธี Social Media Detox ช่วยลดอาการเสพย์ติดโลกโซเชียล โซเชียลมีเดียทำให้เกิดความเครียด ความอิจฉาและเป็นตัวแพร่กระจายข่าวปลอม การลดเวลาเล่น เฟซบุ๊ค จึงเป็นความคิดที่ดี การทดลองวิจัยในนักศึกษาพบว่ากลุ่มที่ลดการใช้งาน โซเชียลมีเดียเหลือแค่ 30 นาทีต่อวันมีสภาพจิตใจดีขึ้น คนที่มีอาการซึมเศร้าตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจก็ไม่รู้สึกหดหู่หรือโดดเดี่ยวเท่าตอนแรก ซึ่งประเด็นสำคัญของการวิจัยนี้คือ เพียงแค่จำกัดเวลาการใช้ก็ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว
บทที่ 7 เด็กๆ กำลังโง่ลงเรื่อยๆ
ปี 2017 มีการรายงานผลการสำรวจชาวสวีเดนกับอินเตอร์เน็ต ซึ่งการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนิสัยการใช้อินเตอร์เน็ตในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สรุปว่าพวกเรากำลังถูกสมาร์ทโฟนควบคุมและมีประเด็นที่น่าตกใจนั่นคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าอุปกรณ์ดิจิทัล ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กๆ มากแค่ไหน แถมยังมีผลไปถึงกระทั่งเด็กเล็กมากๆ
- เด็กวัยทารกหรือเด็กอายุไม่เกิน 12 เดือนใช้อินเตอร์เน็ต ทุก 1 ใน 4 คน
- มากกว่า 50% ของเด็กวัยสองขวบใช้อินเตอร์เน็ตทุกวัน
- เด็กวัย 7 ขวบส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ตทุกวัน
- เด็กวัย 11 ขวบแทบทุกคนมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง
- เด็กวัยรุ่นใช้สมาร์ทโฟนวันละ 3-4 ชั่วโมง
- ในอังกฤษพบว่าเด็กและวัยรุ่นใช้เวลา 6 ชั่วโมงครึ่งของทุกวันกับการดูสมาร์ทโฟน
- วัยรุ่นในอเมริกาใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ตวันละ 9 ชั่วโมงทุกวัน
- ในกรณีของผู้ใหญ่การดูหน้าจอเป็นเวลานานทำให้เราต้องสังเวยสติปัญญาเป็นการตอบแทน
อาการติดสมาร์ทโฟนในเด็ก : ในสมองมีพื้นที่หลายระบบต่างๆ มากมายบางทีก็ทำงานพร้อมกัน บางทีก็ทำงานปะทะกัน ระบบเหล่านี้ไม่ได้ทำงานด้วยความเร็วที่เท่ากัน สมองกลีบหน้าซึ่งอยู่ด้านหลังหน้าผากสามารถหยุดแรงกระตุ้นและเลื่อนเวลาการให้รางวัลออกไปได้ แต่กว่าที่ระบบนี้จะพัฒนาจนสมบูรณ์ก็เมื่อคนอายุราว 25 ถึง 30 ปีขึ้นไป
สมาร์ทโฟนมีพลังอย่างมากในการดึงดูดความสนใจของเรา โดยการกระตุ้นให้ระบบการให้รางวัลในมนุษย์ทำงาน พื้นที่สมองที่คอยห้ามไม่ได้แค่ทำให้เราอดใจไม่กินมันฝรั่งทอด แต่ยังทำให้เราอดใจต่อความต้องการที่จะหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาด้วย การที่พื้นที่ส่วนนี้ยังไม่พัฒนาเต็มที่ในเด็กและวัยรุ่นจึงทำให้พวกเขายิ่งมองว่าเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น การที่เราห้ามเด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เรากลับไม่ห้ามเด็กเล่นสมาร์ทโฟนทั้งที่มันซ่อนพลังอันน่ากลัวของการขับเคลื่อนระบบการให้รางวัลในสมองไว้ ซึ่งกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟนนานที่สุดคือ กลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมต้น
การเรียนด้วยแท็บเล็ตไม่เหมาะกับเด็กเล็ก : การใช้แท็บเลทมีโอกาสทำให้พัฒนาการในเด็กเล็กยิ่งช้าลง เด็กที่ใช้แท็บเลทหรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลาเวลานานแทนการเล่นแบบปกติเมื่อโตขึ้นจะไม่สามารถฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ การคำนวณและวิชาเชิงทฤษฎีได้
ทำไมสมองกลีบหน้าถึงพัฒนาเต็มที่เป็นอันดับสุดท้าย : สมองจะเจริญเติบโตจากด้านหลังมาด้านหน้าส่วนที่พัฒนาเต็มที่เป็นอันดับแรก คือ บริเวณหลังคอแล้วจึงจบลงที่สมองกลีบหน้าซึ่งอยู่หลังหน้าผาก สมองกลีบหน้าเป็นส่วนที่สำคัญต่อการร่วมมือทางสังคม นี้เป็นเรื่องซับซ้อนมากสำหรับมนุษย์และต้องใช้เวลาหลาย 10 ปีในการฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์จึงทำให้ส่วนนี้พัฒนาเต็มที่เป็นอันดับสุดท้าย สมองกลีบหน้าน่าจะได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมมากกว่าพันธุกรรม
ไม่อดทนต่อการไม่ได้รับรางวัล : ความสามารถในการอดทนต่อรางวัลที่จะได้รับในทันทีเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลที่ใหญ่กว่าในอนาคตถือเป็นสิ่งสำคัญมาก การควบคุมตนเองจะปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิตและมีผลสืบเนื่องไปถึงอนาคต หากเราชะลอเวลาของรางวัลออกไปไม่เป็น เราจะไม่สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องใช้เวลาพัฒนา หนึ่งในสัญญาณที่เห็นได้คือ เด็กที่เรียนดนตรีคลาสสิคมีจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ผลการเรียนดีขึ้นด้วยการกำจัดสมาร์ทโฟนออกไป : การเขียนด้วยมือช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีกว่าเราจึงไม่ควรนำสมาร์ทโฟนเข้าไปในห้องเรียน การใช้สมาร์ทโฟนระหว่างเรียนจะขัดขวางกลไกหลายอย่าง ซึ่งขัดขวางการเรียนรู้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การห้ามใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียนช่วยลดช่องว่างของผลการเรียนของนักเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย
คนหนุ่มสาวนอนไม่หลับมากขึ้นเรื่อยๆ : ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ปัญหาการนอนไม่หลับของวัยรุ่นเริ่มรุนแรงมากขึ้น คนหนุ่มสาวนอนน้อยลง 1 ชั่วโมงเต็ม การเลื่อนจอสมาร์ทโฟนวันละกว่า 3,000 ครั้งทำให้ความรู้สึกตื่นเต้นไม่ลดลงแม้แต่ในตอนกลางคืน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ต้องออนไลน์และติดต่อกับผู้อื่นได้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ล้าหลังคนอื่น
ปัญหาสุขภาพจิตในคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว : มีรายงานทางสถิติว่าอัตราส่วนของคนของจำนวนคนวัย 10-17 ปีที่เขาพบจิตแพทย์และรับยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายใน 10 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มมากที่สุดคือ โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าโดยผู้ป่วยที่พบมากที่สุดเป็นกลุ่มหญิงสาว ยิ่งวัยรุ่นใช้เวลากับสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีอารมณ์หดหู่มากขึ้นเท่านั้น
ยุคที่เราพกพาอินเตอร์เน็ตได้ : มีกลไกมากมายที่ส่งผลให้คนหนุ่มสาวเสียสุขภาพจิตจากการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปนอกจากจะทำให้เกิดความเครียดและส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลงแล้ว ยังทำลายความเคารพตนเองของหนุ่มสาวด้วย พวกเขาเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลาผ่านเครื่องหมายนิ้วหัวแม่มือใน Facebook และเครื่องหมายหัวใจใน Instagram และถูกคนหนุ่มสาววัยเดียวกันหลาย 100 คนวิพากษ์วิจารณ์ทุกนาที ทำให้รู้สึกว่าตนเองอยู่ในกลุ่มชนชั้นลำดับต่ำที่สุด
สภาวะทางจิต VS การเสพติด : หากอยากรู้ว่ามีอะไรที่ส่งผลกระทบอยู่หรือไม่วิธีที่จะพิสูจน์ได้คือ การนำสิ่งนั้นออกไป เคยมีการทดลองถึงอิทธิพลของสมาร์ทโฟนในนักเรียนแต่นักเรียนเกินกว่าครึ่งกลับถอนตัวระหว่างการทดลอง โดยทุกคนให้เหตุผลว่ามี “อาการลงแดง” วัยรุ่นส่วนใหญ่จะรู้ว่าการใช้สมาร์ทโฟนทำให้สูญเสียความเคารพตัวเอง ร้อยละ 50 ของคนหนุ่มสาวในอเมริการู้สึกว่าตนเป็นโรคเสพติดสมาร์ทโฟน
ความหมายของเวลาหน้าจอ : คำว่าเวลาหน้าจอมีความหมายค่อนข้างกว้างการพูดคุยกับญาติพี่น้องผ่าน Skype การหาข้อมูลหาวิกิพีเดียเพื่อเขียนเรียงความก็ถือเป็นเวลาหน้าจอ การเล่นเกมแคนดี้ครัช หรือเลื่อนผ่านหน้าจอ Facebook ก็รวมอยู่ในเวลาหน้าจอ เทคโนโลยีดิจิทัลมีความอัศจรรย์ที่ช่วยให้เราได้รับความรู้และพัฒนาทักษะของตนเองได้ไม่ว่าจะในคนแก่หรือคนหนุ่มสาว เกมคอมพิวเตอร์ช่วยพัฒนาความจำใช้งานได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่แถมยังช่วยเพิ่มสมาธิและบรรเทาอาการของโรคสมาธิสั้นได้ด้วย มนุษย์มีแรงกระตุ้นให้ค้นหาและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ แรงกระตุ้นนี้มีความรุนแรงมากจนบางครั้งไม่อาจแยกแยะได้ว่าเป็น “การค้นหารางวัล” หรือ “การค้นหาข้อมูล” กันแน่
บทที่ 8 การออกกำลังกาย คือ วิธีรับมืออันชาญฉลาด
สมองมีไว้เพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวหากไม่เข้าใจในจุดนี้เราจะทำผิดพลาดซ้ำซาก
การที่เราเคลื่อนไหวร่างกายแล้วสุขภาพจิตดีขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ความสามารถทางสติปัญญาทั้งหมดพัฒนาขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกายซึ่งจะช่วยให้เรามีสมาธิความจำดีขึ้นและต่อกรกับความเครียดได้ การออกกำลังกายเป็นวิธีรับมือที่ฉลาดสำหรับยุคปัจจุบันที่คนมากมายต้องเจอเรื่องเครียด ไม่มีสมาธิและแทบจะจมอยู่ใต้ข้อมูลทางดิจิทัลที่มีอย่างล้นหลามจะเรียกว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็คงได้
คลื่นยักษ์แห่งข้อมูล : ทุกวันจะมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น 25,000 ล้านล้านไบต์ การอดทนต่อแรงกระตุ้นคือ สิ่งจำเป็นต่อการจัดการข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน การเดินเล่นหรือวิ่งบ่อยๆ สามารถเอาชนะแรงกระตุ้นได้สบายๆ แต่ที่ได้ผลดีที่สุดคือ การเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอเป็นเวลาหลายเดือน การออกกำลังกายช่วยให้เด็กเอาชนะแรงกระตุ้นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
แม้จะออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยก็ยังได้ผล : การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่องช่วยนอกจากช่วยเพิ่มสมาธิแล้วเด็กๆ ยังสนใจเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้เก่งขึ้นและจัดการข้อมูลได้เร็วขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ แค่การออกกำลังกายเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว เพียงแค่วิ่ง 5 นาทีก็ทำให้เล่นเกมดีขึ้นได้ สิ่งที่ขาดหายไปในเด็กยุคนี้คือ สมาธิและความสามารถในการหยุดความฟุ้งซ่าน แต่แค่เคลื่อนไหวร่างกายถึง 5 นาทีก็ช่วยปรับจุดนี้ให้ดีขึ้นได้
วิธีนี้ยังทำให้วัยรุ่นและผู้ใหญ่มีสมาธิมากขึ้นได้ด้วย ซึ่งสมาธิเป็นสิ่งล้ำค่าในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่าการออกกำลังกายช่วยสมองพัฒนาทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูงหรือ EF (Executive Function) ซึ่งเป็นตัวช่วยเรื่องการวางแผนหรือปรับเปลี่ยนสิ่งที่ควรให้ความสนใจ
ทำไมจึงมีสมาธิมากขึ้น : คำตอบน่าจะเป็นเพราะบรรพบุรุษของพวกเรามีการเคลื่อนไหวร่างกายกันมาก เวลาออกล่าสัตว์หรือถูกไล่ล่าพวกเขาจำเป็นต้องใช้สมาธิทั้งหมดที่มี สมองจึงใช้เวลากว่าหลายล้านปีในการสร้างวิวัฒนาการเพื่อให้เราตั้งสมาธิได้ในเวลาที่จำเป็นที่สุด
การออกกำลังกายป้องกันความเครียดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ : คนที่ออกกำลังกายเพื่อให้ทำงานได้กระฉับกระเฉงขึ้นรวมทั้งสมองยังทำงานได้ดีขึ้นด้วยนั้น สิ่งที่ทุกคนสนใจไม่ใช่การมีสมาธิมากขึ้นแต่คือ การช่วยให้ความเครียดหรือความกังวลลดลง การเคลื่อนไหวร่างกายคือ ยาที่ได้ผลดีมากสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำมักไม่เป็นโรควิตกกังวล และการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นจะได้ผลดีที่สุดและยังส่งผลช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย
การออกกำลังกายทุกประเภทล้วนมีผลดีต่อสติปัญญาไม่ว่าจะเดินเล่น โยคะ วิ่ง หรือฝึกกล้ามเนื้อ โดยส่วนที่ทำงานดีขึ้นมากที่สุดจากการออกกำลังกายคือ ความเร็วในการจัดการด้านสติปัญญา จากงานวิจัยพบว่าเราควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
มนุษย์ออกกำลังกายน้อยลงเรื่อยๆ : การเคลื่อนไหวร่างกายคือ สิ่งที่ช่วยให้เราเอาตัวรอดในชีวิตยุคดิจิทัลได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้เราจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดสมาธิอันเป็นสิ่งล้ำค่าในยุคปัจจุบัน แต่ปัญหาคือ คนเราออกกำลังกายกันน้อยลงเรื่อยๆ และสาเหตุที่ทำให้คนออกกำลังกายน้อยลงก็เพราะว่ามัวแต่ดูหน้าจออยู่
รูปร่างแย่ๆ ของพวกเรา : จากการวิเคราะห์กระดูกส่วนต่างๆ ของมนุษย์เมื่อ 7,000 ปีก่อนพบว่าโดยเฉลี่ยอยู่ในสภาพเดียวกับนักวิ่งระยะไกลในยุคปัจจุบัน ในขณะที่สภาพร่างกายของคนยุคปัจจุบันไม่มีอะไรดีเลย สภาพกระดูกของเราแย่ลงเป็นเพราะการออกกำลังกายน้อยลง ซึ่งสิ่งนี้ยังมีผลเสียต่อสมองอีกด้วย
บทที่ 9 สมองปรับตัวเข้าหาสมาร์ตโฟนหรือไม่
ซิลิคอนชิปเปลี่ยนรูปร่างของทุกสิ่งยกเว้นสิ่งสำคัญ
หนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์ถึงการที่สติปัญญาของมนุษย์เช่นความจำหรือสมาธิถดถอยลงโดยมีสาเหตุจากการใช้สมาร์ทโฟน นอกจากนี้วิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบันยังทำให้เราต้องนั่งเป็นเวลานานและมีเวลานอนน้อยลงซึ่งผลกระทบอาจทำให้เราโง่ลง
ไอคิวของเรากำลังลดลง : แบบทดสอบไอคิวใช้สำหรับวัดพัฒนาการความสามารถทางปัญญาและฝึกฝนความคิด เพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ปรากฏการณ์ที่ไอคิวของแต่ละรุ่นจะสูงขึ้นเรื่อยๆ นี้เรียกกันว่าปรากฏการณ์ฟลิน (flyn effect) ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ค่าเฉลี่ยไอคิวของคนยุโรปเหนือลดลงประมาณหนึ่งทุกปี อาจกล่าวได้ว่าที่โรงเรียนมีความหละหลวมมากขึ้นและไม่ให้ความสำคัญกับการอ่านเหมือนเมื่อ 20-30 ปีก่อน และเป็นเพราะคนสมัยนี้มีเวลาเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงรวมถึงการที่เราจัดการกับข้อมูลทั้งหมดที่ถาถมเข้ามาราวกับคลื่นยักษ์ได้ยากขึ้น
เรายังจำเป็นต้องอาศัยสติปัญญาในระดับหนึ่งเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับโลก วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น หรือตรวจสอบข้อมูลตรงหน้า การใช้อุปกรณ์อัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์กันอย่างแพร่หลายทำให้หลายอาชีพหายไป งานที่จะเหลือให้มนุษย์ทำคงเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ และสมาธิคือสิ่งสำคัญที่สุดในสังคมดิจิทัลแต่สังคมนี่แหละที่จะทำให้มันหายไป
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนของการ “เมารถไฟ” กับ “เมาดิจิทัล” : เทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้พวกเราจมอยู่ในข้อมูลมหาศาลจนคิดเองไม่เป็น ผลกระทบของชีวิตยุคดิจิทัลที่มีต่อมนุษย์หรือความรู้สึกกังวลที่เรามีต่อสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหมือนการ “เมารถไฟ” ซึ่งการเมารถไฟนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ครั้งนี้เราพบสัญญาณที่บอกว่าควรกังวลอย่างจริงจัง ทุกวันนี้เราต่างพกเทคโนโลยีใหม่ไปทุกที่และใช้มันตลอดเวลา ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน ซึ่งสมองจะปรับตัวไปตามโลกที่เราอาศัยอยู่ ในเวลานั้นเราจะต้องเจอเรื่องน่าประหลาดใจแบบนี้ไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด หากคำนึงถึงการปรับตัวและความยืดหยุ่นของสมองแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่ชีวิตยุคดิจิทัลวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วันจะไม่ส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่กับเรา
งานวิจัยไล่ตามไม่ทัน : โดยทั่วไปแล้วงานวิจัยจะใช้เวลา 4-5 ปี ในการทำ แต่การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลไปเร็วกว่าการวิจัยถึงผลกระทบของมันมาก ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังไว้ก่อน หากเราใช้สมาร์ทโฟนแล้วรู้สึกว่านอนหลับยาก วิตกกังวล ไม่ค่อยมีสมาธิ เราควรถอยห่างจากสมาร์ทโฟนชั่วคราว
เราสูญเสียอะไรกันไปบ้าง : มนุษย์เรามีแรงกระตุ้นโดยธรรมชาติให้ฟุ้งซ่านได้ง่ายและสมาร์ทโฟนก็แฮ็กเข้าไปที่จุดนี้โดยตรง การพัฒนาอย่างรวดเร็วของวัฒนธรรมหรือเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์นั้น ส่วนมากเกิดจากบุคคลที่มีความสามารถในการใช้สมาธิอย่างสูงสุด ทั้งทฤษฎีสัมพันธภาพ การค้นพบโมเลกุลของดีเอ็นเอ หรือแม้กระทั่งการคิดค้น iPhone ที่เป็นเครื่องมือที่เหมาะแก่การทำลายสมาธิอย่างยิ่งนั้นต้องอาศัยสมาธิที่เหนือกว่าคนทั่วไป
มนุษย์ยังมีวิวัฒนาการได้อีกหรือ : วิวัฒนาการไม่ได้หยุดอยู่กับที่เพียงแต่ตอนนี้มันอาจกำลังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ความจริงที่น่าเศร้าคือ พื้นฐานของวิวัฒนาการเป็นการกำจัดคุณสมบัติที่ไม่มีประโยชน์ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ คนที่มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่อาจอยู่รอดและสืบเชื้อสายต่อไปได้ ส่วนคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอดและการสืบพันธุ์จะกลายเป็นคุณสมบัติทั่วไป ในอนาคตเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมอาจถูกนำมาใช้เปลี่ยนคุณสมบัติในตัวคน ไม่ว่าจะเป็นส่วนสูง นิสัยทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือสติปัญญา หลายคนกลัวการพัฒนาเช่นนี้และเกรงว่ามนุษย์จะเข้าไปควบคุมขั้นตอนของวิวัฒนาการจนทำให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ไปเลย
อย่ามองข้ามปัญหาสุขภาพจิต : สภาพจิตใจของคนส่วนมากย่ำแย่ลงไปพร้อมพร้อมกับวิถีชีวิตที่เข้าสู่สังคมดิจิทัล ถึงแม้ว่าการสร้างมาตรการที่เข้มข้นจะทำให้ช่วยเหลือคนกว่า 1,350,000 ชีวิตได้ แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีประเทศใดที่มีมาตรการในการแก้ปัญหานี้อย่างเพียงพอ
มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีความสุข : มนุษย์เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่จะมีความสุขได้เองโดยธรรมชาติ นิสัยขี้กังวลหรือความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดคือ ข้อดีที่จะช่วยให้เอาตัวรอดในโลกแบบสมัยก่อนได้ หากมองในแง่ของการอยู่รอด ความกังวล หรืออารมณ์หดหู่ จึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าความสุขหรือความสบายใจ ทำไมสุขภาพจิตยังย่ำแย่คำตอบเป็นเพราะธรรมชาติไม่เห็นคุณค่าของการเติมความสุขอันยั่งยืนและยาวนานให้กับมนุษย์ ธรรมชาติให้ความสุขเพียงชั่วคราวกับเรา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้เราทำพฤติกรรมนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ นั่นเอง
เพื่อไม่ให้สมองเสื่อมสภาพเพราะเทคโนโลยี : อินเตอร์เน็ตทำให้สมองช้าลงและเป็นโรคซึมเศร้าแต่ความจริงแล้วปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก แน่นอนว่าการเปลี่ยนทุกสิ่งให้อยู่ในระบบดิจิทัลถือเป็นการปฏิวัติสังคมครั้งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยประสบมา แต่สันนิษฐานที่ถูกต้องคือ สิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ นับจากนี้ไปอีกหลาย 10 ปี สังคมจะต้องเปลี่ยนรูปร่างไปในแบบที่เราไม่เคยนึกฝันมาก่อนและมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งอาจเทียบได้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เราก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดิจิทัลให้เป็นและต้องเข้าใจด้วยว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีข้อเสียของมัน ไม่เช่นนั้นเราจะจัดการกับพลังงานดิจิทัลที่ไร้ประโยชน์ไม่ได้ แทนที่เทคโนโลยีที่เรียกว่าสมาร์ทโฟนนี้จะสร้างมนุษย์เวอร์ชั่น 2.0 มันอาจสร้างมนุษย์เวอร์ชั่น 0.5 แทน
บทที่ 10 บทส่งท้าย ข้อแนะนำสำหรับชีวิตยุคดิจิทัล
เรากำลังอยู่ในโลกพิศวงโลกที่ห่างไกลจากการที่มนุษย์จะสร้างวิวัฒนาการและปรับตัวเข้าหา แต่ในเวลานี้เราก็ยังมีสมองของคนเก็บของป่าล่าสัตว์อยู่ เราเฝ้าระวังภัยอันตรายรอบตัว รู้สึกเครียดในทันที ฟุ้งซ่านง่าย และไม่ถนัดการทำงานหลายหลายอย่างพร้อมกัน แม้ว่าเราก็อาศัยอยู่ในโลกของสังคมดิจิทัล หากใส่ใจถึงจุดนี้ให้มากขึ้น เราก็จะมีสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยแน่นอน
ข้อแนะนำสำหรับชีวิตยุคดิจิทัล
รู้เวลาการใช้สมาร์ทโฟนของตัวเอง การรู้พฤติกรรมของตัวเองคือก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง
- ซื้อนาฬิกาปลุกและนาฬิกาข้อมือ
- ปิดสมาร์ทโฟนวันละหนึ่งถึง 2 ชั่วโมง
- ปิดการแจ้งเตือนทั้งหมด
- ปรับหน้าจอสมาร์ทโฟนให้เป็นสีขาวดำ
- เปิดโหมดเงียบขณะขับรถ
ในที่ทำงาน
- เวลาทำงานที่ต้องใช้สมาธิให้เก็บสมาร์ทโฟนไว้อีกห้องห้ามวางใกล้มือ
- กำหนดเวลาในการเช็คข้อความหรืออีเมลเช่นสองถึง 3 นาทีต่อชั่วโมง
เวลาพบเจอผู้คน
- เวลาเจอเพื่อนให้ปิดแสงสมาร์ทโฟนแล้ววางให้ห่างจากตัวควรให้ความสนใจกับคนที่อยู่ด้วยกัน
- หากคุณหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาคนอื่นจะทำตาม
ข้อแนะนำสำหรับเด็กและหนุ่มสาว
- ห้ามนำสมาร์ทโฟนเข้าห้องเรียน
- กำหนดเวลาหน้าจอและพยายามหาอย่างอื่นทำ
- จงเป็นตัวอย่างที่ดี
เวลานอน
- ปิดสวิตช์สมาร์ทโฟนแทบเลทหรืออุปกรณ์สำหรับอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
- ไม่วางสมาร์ทโฟนในห้องนอน หากต้องการวางสมาร์ทโฟนในห้องนอน ให้ปิดเสียงเรียกเข้า
- ไม่เช็กอีเมลเรื่องงานก่อนเข้านอน
วิธีรับมือกับความเครียด
- อย่ามองข้ามสัญญาณของความเครียด
การออกกำลังกายกับสมอง
- ออกกำลังกายทุกประเภทล้วนดีต่อสมอง คาร์ดิโอดีที่สุด
- หากอยากลดความเครียดให้ได้มากที่สุดและเพิ่มสมาธิควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 45 นาที ถ้าเป็นไปได้ควรออกกำลังกายจนกระทั่งหายใจหอบและได้เหงื่อ
โซเชียลมีเดีย
- ควรติดตามเฉพาะคนที่เราอยากมีปฏิสัมพันธ์ด้วยจริงๆ
- ให้คิดว่าโซเชียลมีเดียคือเครื่องมือในการมีปฏิสัมพันธ์
- ลบแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียออกจากสมาร์ทโฟนแล้วใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น
สรุปแนวคิดสำคัญจากหนังสือ Smartphone Brain
วิวัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเรายังพัฒนาได้ไม่สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล ทำให้เราตอบสนองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือยุคดิจิทัลได้ไม่ดีเพียงพอ จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น สมาธิเราสั้นลง หงุดหงุดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ มีความเครียดมากขึ้น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลก็มากขึ้นตามได้วย ซึ่งมีคนประสบปัญหานี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกเพศ ทุกวัยโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น
เมื่อเราเห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่มีสาเหตุมาจากสมาร์ทโฟนแล้ว เราควรตระหนักถึงภัยร้ายนี้และต้องมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข ตราบใดที่พวกเรายังเพิกเฉย บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็จะยิ่งเข้ามาควบคุมชีวิตของพวกเราได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ
ในมุมของการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง คือ การจำกัดเวลาการใช้งานบนสมาร์ทโฟน หรือไม่ใช้ไปเลยได้ยิ่งดี แล้วเอาเวลาเหล่านั้น ไปทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับร่างกายและจิตใจมากกว่า ได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย และการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริงมากขึ้น อันจะทำให้สภาวะจิตใจของเราอยู่ในจุดที่ได้รับการเติมเต็มคุณค่าได้อย่างแท้จริง และมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น