Zero Waste คืออะไร
Zero Waste แนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์ หรือลดจำนวนขยะต่อคนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการหยุดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง แทนที่จะกำจัดปัญหาขยะที่ปลายทาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ของการเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมและพร้อมช่วยโลกอย่างเต็มที่
เมื่อขยะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปริมาณขยะที่กำจัดได้กลับสวนทางกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นถุง หลอด หรือ โฟม ล้วนแต่เป็นขยะที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น คงจะดีไม่น้อยถ้าเราหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมทีละนิด โดยการเลือกที่จะไม่รับถุงพลาสติกหันมาใช้ถุงผ้าแทน เปลี่ยนจากการใช้หลอดพลาสติกเป็นหลอดกระดาษหรือหลอดสแตนเลส เท่านี้ปัญหาขยะล้นเมือง คงไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ช่วยเปลี่ยนกันทีละนิดก็สามารถลดจำนวนปริมาณขยะลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แนวทางจัดการ 1A3R
1.Avoid งดหรือเลิก เป็นการงดหรือเลิกการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง การบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและต่อระบบนิเวศ โดยจะต้องงดหรือเลิกบริโภค
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งเลย
- ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และระบบนิเวศ
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าหรือชิ้นส่วนของสัตว์ป่าทุกชนิด
- กิจกรรมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสภาพแวดล้อม
2.Reduce ลดการใช้ (คิดก่อนใช้) ลดระดับการใช้ปัจจุบัน ควบคุมปริมาณการใช้ให้อยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ โดยลดการใช้ การบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง เพราะการลดการบริโภคของเรา จะช่วยให้เราลดปริมาณขยะที่สร้างขึ้นได้ ในขั้นตอนนี้เริ่มต้นโดยการสำรวจว่าเราจะลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นตรงไหนได้บ้าง ตัวอย่าง เช่น
- แก้ไขบนหน้าจอไม่ใช่บนกระดาษ เพื่อลดการใช้กระดาษ
- ใช้อีเมลเพื่อลดการใช้กระดาษ
- คิดก่อนพิมพ์หรือถ่ายสำเนา พิมพ์และทำสำเนาให้น้อยที่สุด
- ส่งและจัดเก็บเอกสาร เช่น เอกสารที่จำเป็นและข้อเสนอทางธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์แทนที่จะเป็นกระดาษ
- เมื่อต้องพิมพ์หรือทำสำเนาให้ทำสองด้าน
- หมุนเวียนเอกสารแทนการทำสำเนาเฉพาะสำหรับทุกคน
- เปลี่ยนระยะขอบบนเอกสาร Word ระยะขอบเริ่มต้นของเอกสารที่พิมพ์คือ 1.25 นิ้วทุกด้าน เพียงเปลี่ยนระยะขอบเป็น 0.75 นิ้วจะช่วยลดปริมาณกระดาษที่ใช้ลงเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์
- ใช้ถุงผ้า ตระกร้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก
- ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนการใช้กระดาษทิชชู่
- ใช้ปิ่นโต หรือกล่องข้าวใส่อาหาร แทนการใส่กล่องโฟม
- ใช้กระติกน้ำ หรือขวดน้ำแบบพกพา ที่สามารถ Refill ได้ แทนการซื้อน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก เมื่อซื้อของชิ้นเล็กหรือน้อยชิ้น
- เลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลือกทานอาหารที่ร้านแทนการใส่กล่องกลับ
- หลีกเลี่ยงใช้วัสดุสิ้นเปลืองแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
3.Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำ (ใช้แล้วใช้อีก) การใช้ซ้ำ เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำ ซึ่งบางอย่างอาจใช้ซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง ใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ เลือกซื้อสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำได้ ซึ่งนอกจากช่วยลดการเกิดขยะแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการตัดต้นไม้ได้เป็นจำนวนมาก
- เลือกใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์ตได้
- ดัดแปลงของเหลือใช้เพื่อใช้ประโยชน์
- เสื้อผ้าเก่านำไปบริจาค หรือถูพื้น
- ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ทิ้งเป็นขยะ
- การใช้กระดาษ 2 หน้า
- การนำกระดาษรายงานที่เขียนแล้ว 1 หน้า มาใช้ในหน้าที่เหลือหรืออาจนำมาทำเป็นกระดาษโน๊ต
4.Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ คัดแยกขยะมูลฝอยแต่ละประเภท ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หมุนเวียนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตของแต่ละประเภทได้
- ขวดแก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ
- เลือกซื้อสินค้าที่นำกลับมารีไซเคิลได้หรือที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล
- นำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมัก
สถานการณ์ในไทย
ปริมาณขยะพลาสติกในช่วงโควิด
ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ หลังจากมี‘โควิด-19’ พบว่า แม้นักท่องเที่ยวหายไปมาก แต่ขยะพลาสติกไม่ได้ลดลง ช่วง‘โควิด-19’ ระลอกใหม่ 1 เมษายน 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน’โควิด-19′ จะพบว่า ในสถานการณ์ปกติ ม.ค. – ธ.ค. 62 คนไทยสร้าง ‘ขยะพลาสติก’เฉลี่ย 96 กรัม/คน/วัน ถัดมาในช่วง ‘โควิด-19’ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2563 ‘ขยะพลาสติก’ เพิ่มขึ้นกว่า 40% เฉลี่ย 134 กรัม/คน/วัน และล่าสุด ในการระบาดระลอกใหม่ ตัวเลขเดือนเม.ย. 64 ‘ขยะพลาสติก’เพิ่มขึ้น 45% หรือเฉลี่ย 139 กรัม/คน/วัน ซึ่งเราจะเห็นภาพได้ง่ายๆจากหนึ่งในปัจจัยหลักของขยะที่เพิ่มขึ้นคือ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ เนื่องจากการสั่งอาหาร 1 ครั้งโดยเฉลี่ยแล้วจะประกอบไปด้วยกล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด นับรวมแล้วประมาณ 7 ชิ้น จึงเป็นที่มาของยอดขยะพลาสติกที่สูงขึ้น
ปริมาณขยะหน้ากากอนามัย
อีกทั้งยังมีขยะจากหน้ากากอนามัยคาดว่ามีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยประมาณ 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งปะปนรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งจะถูกเรียกว่า ‘ขยะติดเชื้อ’ โดยเฉพาะช่วง ‘โควิด-19’ รวมถึง ขยะ ‘หน้ากากอนามัย’ ที่เก็บขน และกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม Hospitel และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว เพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 ตันต่อวัน
อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ
ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
นโยบายกำจัดขยะในไทย
ประเทศไทยสร้างขยะมากกว่าปีละ 27 ล้านตัน แม้สัดส่วนการนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงหลังจะเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 5.81 ล้านตัน เป็น 11.93 ล้านตัน ในปี 2563 แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ได้รับการกำจัดไม่ถูกต้องจากผลการศึกษาปัญหา การจัดการขยะ ในประเทศไทย ช่องว่างของกฎหมาย “อ.ดร.ฤทธิภัฏ กัลป์ยาณภัทรศิษฏ์” รองคณบดี สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(อ่านเพิ่มเติมที่นี้) กล่าวภายในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืนมุ่งสู่ เศรษฐกิจหมุ่นเวียน โดยให้ข้อมูลว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย 2562 มีสถานที่กำจัดที่ดำเนินการถูกต้อง 409 แห่ง คิดเป็น 15.34% ขณะที่ สถานที่กำจัดที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง 2,257 แห่ง 84.66% พอมีการดำเนินการไม่ถูกต้อง ทำให้มีการเกิดปัญหามากมาย ซ้ำซาก หลายปี เช่น ไฟไหม้บ่อขยะ มลพิษจากการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง นำเสียจากบ่อขยะ สร้างผลกระทบต่อประชาชน
ค่าจัดการขยะขาดดุล 17,200 ล้านบาท
หากดูข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ จาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ค่าจัดการขยะ 13,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,300 ล้านบาท ขาดดุล 11,700 ล้านบาท กรุงเทพฯ ค่าจัดการขยะ 7,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 500 ล้านบาท ขาดดุล 6,500 ล้านบาท รวม ค่าจัดการขยะ 20,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,800 ล้านบาท หมายความว่า แต่ละปีรัฐบาลจะต้องให้เงินอุดหนุนเข้าไป (ขาดดุล) 17,200 ล้านบาท ซึ่งหากมีกฎหมายหรือระบบการจัดการขยะที่ดี ตัวเลขอาจจะลดลงมาได้ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เดินหน้าด้านการจัดการขยะ ทั้งแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ”, แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน “จังหวัดสะอาด” รวมถึงแผนที่กำหนดมาตรการครอบคลุมระยะต้น กลาง และปลาย แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่กำหนดเอาไว้เพราะยังมีช่องว่างและงานอีกเยอะที่หน่วยงานหลายภาคส่วนต้องร่วมกัน
4 ช่องว่าง ‘กฏหมายจัดการขยะ’ คือ
- 1.กฎหมายซ้ำซ้อน ทับซ้อน และยุ่งยากในการบังคับใช้ เพราะมีกฎหมายหลายฉบับ
- 2.กฎหมายไม่สมบูรณ์ ไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมการจัดการขยะในทุกขั้นตอน เพราะกฎหมายขยะประชาชนมีส่วนสำคัญที่สุดในการจัดการ “กฎหมายมุ่งไปที่ อปท. แต่ไม่ได้พูดถึงหน้าที่ประชาชน เช่น ต้องคัดแยกขยะ หรือ ส่งมอบขยะให้ถูกต้องตามที่กำหนด ในหลายประเทศที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้าในการคำนึงถึงว่าเมื่อเป็นขยะจะเป็นอย่างไร แต่กฎหมายไทยยังไม่เป็นอย่างนั้น แต่เน้นให้ท้องถิ่นจัดการทำให้ปลายทางเป็นเรื่องใหญ่ในการจัดการ”
- 3.การขาดองค์กรกลไกในการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการ ท้องถิ่นยังไม่มีช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมากเท่าที่ควร
- 4.การกำหนดให้ท้องถิ่นรับผิดชอบการจัดการขยะชุมชน ซึ่งอาจมีปัญหาในท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กหรืองบประมาณน้อย ท้องถิ่นขนาดเล็กไม่สามารถจัดการขยะบางอย่างได้
‘โรดแมพ’ จัดการ ‘ขยะพลาสติก’ 2561-2573
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายที่ 1 คือการลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ทดแทนด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ได้แก่
- ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
- กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม
- แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ
- หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น
เป้าหมายที่ 2 คือการนำพลาสติกใน 7 กลุ่ม กลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่า 50% ได้แก่
- ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP)
- บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE)
- ขวดพลาสติก (ทุกชนิด)
- ฝาขวด
- แก้วพลาสติก
- ถาด/กล่องอาหาร
- ช้อน/ส้อม/มีด
ผลกระทบที่เกิดขึ้น
1.ปัญหาการจัดการขยะไม่ถูกวิธี ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ซึ่งมูลฝอยบางประเภทหากทิ้งลงในทะเลจะสะสมจนเป็นพิษ ในสิ่งแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศ และ ห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟมบรรจุอาหาร เชือก แห อวน เป็นต้น และเมื่อสัตว์กินเข้าไป อาจจะเคลื่อนไหวไม่ได้ ในบางตัวอาจจะตายในที่สุดในส่วนของ ผลกระทบต่อสุขภาพ ของประชาชนหากการจัดการมูลฝอยเป็นไปแบบไม่ถูกสุขลักษณะจะทำให้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบของมูลฝอย ทั้งลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ สารเคมีอันตราย ปริมาณฝุ่นละออง เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนในมูลฝอยหรือกระบวนการขั้นตอนในการจัดการมูลฝอย แยกเป็นหมวดที่กระทบสุขภาพได้ดังนี้
- 1) โรคระบบทางเดินหายใจ สารพิษจาการเผาขยะชื่อสารไดออกซิน ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอดอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ
- 2) โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อุจจาระร่วง
- 3) โรคผิวหนัง ได้แก่ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง ภูมิแพ้ทางผิวหนัง อาการคันต่างๆ
- 4) โรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ และบาดทะยัก เป็นต้น
ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือ พนักงานเก็บขยะที่ต้องอยู่กับแหล่งสะสมเชื้อโรคเป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ป่วยบ่อยกว่าคนทั่วไป 10-15% โดยต้องเสี่ยงต่ออันตรายหลายรูปแบบ ทั้งถูกของมีคมบาดจนอาจเกิดแผลติดเชื้อและบาดทะยัก อันตรายจากเชื้อโรคในกระดาษชำระ ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัย เศษอาหารเน่าบูด และซากสัตว์ โดยโรคภัยจากขยะที่เกิดบ่อยได้แก่ โรคระบบทางเดินอาหาร ท้องร่วง โรคจากการติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ คลื่นไส้อาเจียนปวดศีรษะ และโรคมะเร็ง เป็นต้น
2.ปัญหามลพิษทางน้ำขยะในทะเล เมื่อขยะมากกว่าครึ่งถูกกำจัดด้วยกระบวนการที่ไม่ถูกต้องจึงนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ และที่สำคัญ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบหนึ่งต่อสุขภาพจากการไม่แยกขยะและไม่มีการจัดการพื้นที่เทกองให้ถูกต้อง มีได้ตั้งแต่จากการการรับสารเจือปนตั้งแต่ที่เป็นเชื้อโรค ไมโครพลาสติก (พลาสติกขนาดเล็กมากๆ ที่แตกจากการย่อยสลายไม่สมบูรณ์) และสารเคมีอันตราย อย่างสารตะกั่วและโลหะหนักในขยะอิเลกทรอนิกส์ซึมลงดินและย้อนกลับมาหาคนและสัตว์ในผัก อาหารทะเล เนื้อสัตว์ รวมถึงน้ำ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเล 5-10% พิการ6 จากการกินพลาสติกเข้าไป และเสียชีวิต ตามที่เป็นข่าวดังตลอดหลายปีที่ผ่านมา7
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 68 โดยมีขยะในทะเลกว่า 11.47 ล้านตัน ซึ่ง 80% มาจากขยะบนบก ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ขยะที่พบในทะเลกว่าครึ่งเป็นขยะพลาสติก
ประโยชน์ Zero Waste
1.รู้คุณค่าของขยะที่ทำเงินได้ ขึ้นชื่อว่าขยะ หลายคนก็จะตีความว่ามันคือสิ่งที่ทำอะไรต่อไม่ได้อีก ควรรีบกำจัดออก เพราะไม่มีประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการกำจัดก็ทำเงินกลับมาได้ มาดูขยะที่ทำเงินให้กับเรากันดีกว่า นั่นคือ แยกขยะรีไซเคิลที่ขายได้ ชาวSummerTeasลองเริ่มจากการจัดเก็บและจัดระเบียบจากลิสรายการด้านล่างดูว่าของสิ่งใดที่คุณแยกแยะและนำมาเป็นเงินได้ ทั้งนี้จะได้ลองแล้วรับรองว่าจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในบ้านของคุณได้อีกด้วย
2.ประหยัดเงินในกระเป๋า เมื่อคุณการได้พิจารณาสิ่งของที่มีอยู่ หรือการใช้ทดแทนกันได้ช่วยลดการซื้อเพิ่ม เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ที่คุณหมักเองได้ หรือ ค่าภาชนะใส่อาหารที่ออกไปจับจ่ายซื้อของจะถูกคิดเงินเพิ่มไปในรายการอาหาร แม้จะเล็กน้อยแต่รวมระยะยาวแล้วก็ประหยัดไปได้เยอะเช่นกัน
3.ทันสถานการณ์โลก ทันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ชาวSummerteas จะเห็นว่าขยะที่เกิดขึ้นกับนโยบายและความพร้อมของประเทศในการทำงายขยะยังมีขยะที่ดูทำรายแบบด้อยประสิทธิภาพทำให้เกิดการทิ้งลงสู่ธรรมชาติ ส่งผลกับทะเลไทยมานักต่อนักและสุดท้ายก็วนกลับมาที่ตัวเรา เราจึงตระนักและเลือกบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงกับสุขภาพร่างกายของตนเองและเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ต้องไปร่วมมือเรียกร้องจัดการขยะเพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราและผู้ร่วมโลกของเรากลับมาปลอดภัยจากขยะมูลฝอยต่างๆ
สรุป ข้อดี- ข้อเสีย Zerowaste
เมื่อเราได้เห็นข้อมูลจากหลากหลายภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศ เราเห็นว่าภาครัฐและเอกชนมีการร่วมมือกัน ลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเราจะสัมผัสได้ว่า ช่วงปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะพกถุงไปผ้าไปทดแทนการรับถุงจากร้านค้า ต่างฝ่ายต่างช่วยกันจดเห็นได้ชัดว่าขยะลดลงแต่ช่วงโควิดเข้ามาทำให้ ขยะพลาสติกได้เพิ่มขึ้นมาอีก ประจวบกับสถานการณ์ที่มีการจัดการขยะอย่างไม่ถูกวิธี ยังคงอยู่และมีช่องว่างนโยบายที่มีงบประมาณไม่เอื้อกับการจัดการขยะที่ร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนยังไม่แข็งแกร่งพอ ภาวะล้นของขยะมูลจะยังคงอยู่ต่อไป ยิ่งทำให้เราต้องตระหนักว่าการเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเองอาจจะหนทางที่เร็วและส่งต่อถึงกันได้ง่ายกว่า ชาวSummerteas ก็ได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้จะนำมาซึ่งเวลาที่เพิ่มขึ้นของแต่ละกิจกรรม ต้องมีการวางแผนเผื่อเตรียมอุปกรณ์ต่างๆมากกว่าเดิม แต่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เรามาลงมือช่วยกัน นำแนวทางZerowasteมาใช้ให้ยั่งยืนกันดีกว่าค่ะ
ทำตัวอย่างไรให้เป็น Zero waste Lifestyle
จากประเด็นที่ได้ชี้แจงข้างต้นเราจะเห็นแล้วว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นบวกนโยบายที่เรามี อาจจะไม่สอดคล้องกับปริมาณขยะ อีกทั้งเรายังขายโรงทำลายที่มีประสิทธิภาพขยายตามปริมาณได้ทัน วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเริ่มจากตัวเราเอง และขยายต่อสู่คนใกล้ตัวและชุมชน เมื่อร่วมมือกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยให้เป้าไปถึง Zero Waste ได้ไม่ยาก ใครที่ต้องการชุดข้อมูล และมองหาแนวทางการลดขยะอ่านได้จากชุดอินโฟกราฟฟิคด้านล่างนี้เลย อ้างอิง
Level 1 ระดับ Preparing
การที่เราจะเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือทำตามแนวทางที่เราเชื่อ เราต้องเข้าทั้งตัวเองและแนวคิดพื้นฐานให้ดีเพื่อวางแนวทางการเป็นซีโร่เวสให้ง่ายและยั่งยืน เริ่มจากเข้าใจปัญหาขยะ จากเรื่องใกล้ๆตัว เช่น ขยะภาพในบ้านตัวเอง เริ่มจัดการเองอย่างง่าย และเข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเองว่าลดขยะตัวไหนก่อน-หลัง โดยที่ยังทำให้ชีวิตยังง่ายอยู่ เพราะถ้ายากเกินไปหรือปรับเปลี่ยนแล้วเหนื่อยจนเกินไปเราอาจจะกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆอีกครั้ง และเป้าหมายซีโร่เวสของเราอาจจะต้องถูกพับโปรเจค
SummerTeas Tips: สังเกตพฤติกรรมตนเองจากไดอารี่ หรือ อ่านประวัติการซื้อสินค้าของตนเอง และเริ่มต้นลดจากสิ่งที่เราคิดว่าง่ายก่อน
Level 2 ระดับ Starter
ของใช้ในบ้าน
- พกผ้าเช็ดหน้าไว้ใช้แทนทิชชู่ : เพราะทิชชู่ผลิตมาจากเยื่อของต้นไม้ ยิ่งใช้มากก็ยิ่งต้องตัดต้นไม้มาก การพกผ้าเช็ดหน้าก็เป็นอีกอย่างนึงที่ง่ายและตอบโจทย์
- ใช้แผ่นกระดาษให้คุ้มค่าก่อนทิ้ง : เป็นอีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
- แยกขยะให้ถูกวิธี : เพื่อสามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น
- เลือกใช้สบู่ก้อนสำหรับล้างมือ : เพื่อลดการใช้แพ็คเกจจิงที่เป็นพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้
สถานการณ์ต้องทำเมื่อออกนอกบ้าน
- พกถุงผ้า : การพกถุงผ้าจะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งที่สะสมเป็นกองขยะล้นโลกอยู่ทุกวันนี้
- ทานอาหารให้หมดจาน : 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตในทุกวันนี้ กลายเป็นขยะเหลือทิ้งแถมเปลืองทรัพยากรในการผลิต การกินให้หมดจานก็จะช่วยลดปัญหาขยะและประหยัดทรัพยากรได้ระดับนึง
- ปฏิเสธไม่ใช้หลอดพลาสติก : อย่างที่เราเคยเห็นกันว่าหลอดพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้สัตว์ทะเลต้องล้มตายจนเสี่ยงสูญพันธุ์ได้
SummerTeas Tips: เลือกใช้ทิชชู่เปียกแบบย่อยสลายได้ สำหรับคนที่ติดทิชชู่เปียกจริง ๆ ลองเลือกเป็นแบบ Biodegradable ดีกว่า ถึงจะใช้ระยะเวลาย่อยช้าถึง 6 เดือน แต่ถ้าเทียบกับแบบธรรมดาแล้วจะใช้เวลาย่อยเกือบ 100 ปี
Level 3 ระดับ Intermediate
- ใช้ปิ่นโตหรือกล่องใช้ซ้ำแทนกล่องโฟม : ลดการใช้พลาสติกแบบ Single Use ใส่อาหารที่ย่อยสลายยาก และลดปริมาณขยะด้วย
- ลดการซื้อเสื้อผ้าตามแฟชั่น : ด้วยการ Mix & Match เสื้อผ้าที่มีอยู่ แทนการซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อย ๆ
- พกกระติกน้ำใช้แทนแก้วพลาสติก : มีผลสำรวจว่าร้านกาแฟใช้แก้วพลาสติกสูงถึง 400 ใบ/วัน การพกแก้วหรือกระติกน้ำไปเองก็เป็นอีกวิธีนึงที่ช่วยโลกได้
- ใช้หลอดสเตนเลส หลอดกระดาษ หรือหลอดซิลิโคนใช้ซ้ำได้ : เพื่อใช้แทนหลอดพลาสติกที่เป็นหนึ่งในตัวร้ายของปัญหาขยะล้นโลกล้างพลาสติกก่อนทิ้ง : เพื่อให้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นและง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล
- ใช้กล่องพลาสติกแทน แร็ปพลาสติกห่อของแช่ตู้เย็น : ช่วยลดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งได้อีกช่องทาง
- นำของที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาคหรือขาย : เพื่อหมุนเวียนทรัพยากร ลดการผลิตใหม่
SummerTeas Tips: ลดการทานอาหารสำเร็จรูป/อาหารแปรรูป : เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปจะใช้ทรัพยากรสูง เมื่อมองทั้งกระบวนการตั้งแต่เก็บรักษา ขนส่ง และต้องผ่านการแพ็คเกจอีกด้วย
Level 4 ระดับ advance
- เลือกซื้อ Local Ingredients หรือปลูกทำกินเอง: ช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งอาหารจากที่ไกล ๆ และลดทรัพยากรในการถนอมอาหารให้คงสภาพ อ่านต่อได้ที่
- แนะนำร้านค้าที่มีรูปแบบรีฟีล: ช่วยให้หลายๆคนเข้าถึงแหล่ง หรือร้านค้าที่มีแนวคิดแบบZerowaste อย่างจริงจังและมากขึ้น
- การทำรายการขยะวัดผล: การที่คุณเก็บข้อมูลส่วนตัว ว่าได้จัดการขยะไปบ้างในแต่ละวันและเห็นยอดรวมของปีว่าคุณได้จัดการขยะไปแล้วเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้คุณภูมิใจและเป็นเหมือนคนต้นแบบที่แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอีกหนึ่งทาง
สรุป
ชาวซัมเมอร์ทีได้เห็นวิถี Zero waste ในเลเว่ลต่างๆแล้ว จะได้เห็นความยากง่ายของแต่ละเลเว่ล เพื่อให้คุณได้เตรียมตัวหรือจัดการที่จะลงมือเป็นชาวZero wasteอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เราจะมีเป้าหมายเดียวกันแล้วในการจัดการขยะให้เป็นศูนย์เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นและสุดท้ายก็จะกลับมาที่เราภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ไร้มลภาวะจากทุกรูปแบบ